[คำที่ ๒๘๘] วินยปฺปญฺญตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  2 มี.ค. 2560
หมายเลข  32408
อ่าน  367

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วินยปฺปญฺญตฺติ”

คำว่า วินยปฺปญฺญตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า วิ - นะ - ยับ - ปัน - ยัด - ติ] มาจากคำว่า วินย (นำออกซึ่งกิเลส,กำจัดกิเลส) กับคำว่า ปญฺญตฺติ (ประกาศให้รู้โดยทั่วกัน) ซ้อน ปฺ จึงรวมกันเป็น วินยปฺปญฺญตฺติ แปลว่า การทรงบัญญัติพระวินัย บุคคลผู้ทรงบัญญัติพระวินัยได้นั้น มีเพียงบุคคลเดียว คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพื่อประโยชน์แก่เพศบรรพชิต จะได้ศึกษาสำรวมระวังตามวินัยบัญญัติข้อนั้นๆ ไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต และ น้อมประพฤติในสิ่งที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตเท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ในการทรงบัญญัติพระวินัย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมอุปาลิสูตร ดังนี้ คือ

“เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ (หมู่ของพระภิกษุทั้งหลาย) ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (หน้าด้าน) ๑ เพื่อการอยู่สำราญแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในสัมปรายภพ ๑ เพื่อความเลื่อมใสแห่งบุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเจริญยิ่งแห่งความเลื่อมใสของบุคคลทั้งหลายผู้เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม ๑ เพื่ออนุเคราะห์วินัย ๑”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าที่พระองค์จะได้ทรงตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีเมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์มาตลอดระยะเวลาถึงสี่อสงไขยกับอีกแสนกัปป์ เป็นเวลาที่ยาวนานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดทั้งปวงนั้นไม่ใช่เพื่อตัวพระองค์เพียงพระองค์เดียว แต่เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อพระบารมีถึงความสมบูรณ์พร้อมก็ทำให้พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระองค์ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกด้วยการแสดงพระธรรมประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ด้วยพระมหากรุณาอย่างยิ่ง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมายนับไม่ถ้วน แต่ละคนสะสมอัธยาศัยมาไม่เหมือนกัน บางคนแม้จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม

แต่ไม่ได้สะสมอัธยาศัยมาที่จะน้อมไปในเพศที่สูงยิ่ง ก็เป็นคฤหัสถ์มีชีวิตไปตามปกติของคฤหัสถ์ แต่บางคนสะสมมาที่จะสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ก็บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

สิ่งที่ควรจะได้เข้าใจเป็นอย่างยิ่ง คือ พระภิกษุเป็นใคร พระภิกษุคือผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงและมีศรัทธาที่จะดำเนินตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าใครจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ได้เพียงแต่ว่าต้องการเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น พระภิกษุที่แท้จริง คือ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจแล้วก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง พุทธบริษัทไม่ได้มีเฉพาะพระภิกษุ ยังมีอุบาสกอุบาสิกาด้วย เพราะเหตุว่า ไม่มีการทรงบังคับว่าทุกคนจะต้องบวช เนื่องจากทุกคนเป็นอิสระ ตามการสะสม สะสมมาอย่างไรก็ประพฤติเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในครั้งพุทธกาลอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นพระอริยบุคคลเพราะได้ฟังพระธรรม เป็นพระโสดาบัน ก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระอนาคามี ก็มี แต่พอถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ครองเพศคฤหัสถ์อีกต่อไป

ตามประวัติของพระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ก็เห็นได้ว่าทุกคนสะสมมาที่จะสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อตัวเอง เพราะว่าเมื่อเป็นพระภิกษุแล้วท่านเหล่านั้นศึกษาพระธรรมและเผยแพร่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่พรรษาแรกๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ส่งพระภิกษุไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา สมัยกาละต่อมาก็มีพระภิกษุบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น แล้วผู้ที่เป็นภิกษุในครั้งนั้นที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังเต็มไปด้วยกิเลส บางรูปก็ประพฤติผิด ด้วยเหตุนี้เมื่อมีสิ่งใดที่ไม่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิตเกิดขึ้น พระองค์ทรงประชุมพระภิกษุสงฆ์ ไม่ใช่ว่าพระองค์จะทรงบัญญัติพระวินัยในทันที แต่ทุกอย่างต้องด้วยความเห็นที่ถูกต้องของทุกฝ่ายแล้วก็ทรงสอบถามว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร สมควรที่ภิกษุจะทำอย่างนั้นหรือไม่ แล้วก็ให้พระภิกษุทั้งหมดได้รับทราบร่วมกัน เมื่อเห็นว่าความประพฤติอย่างนั้นไม่เหมาะสม ก็ทรงบัญญัติพระวินัย เป็นแต่ละข้อๆ ซึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยแล้ว ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

พระภิกษุทุกรูปในสมัยพุทธกาล ทั้งหมดและทุกยุคทุกสมัยด้วย ต้องเคารพในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่ง ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดอกุศลพอกพูนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง สิ่งนั้น พระภิกษุ ทำไม่ได้ ถ้าพระภิกษุเป็นผู้ทำในสิ่งที่ผิด ก็เป็นผู้ที่ทรยศต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติพระวินัยอย่างนี้ ทรงแสดงพระธรรมอย่างนี้ แต่ไม่น้อมประพฤติตาม เป็นโทษสำหรับผู้นั้นโดยส่วนเดียว เมื่อพระภิกษุทำในสิ่งที่ผิดแล้วไม่สำนึก ถ้ามรณภาพ (ตาย) ไปในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ ชาติต่อไปก็คือเกิดในอบายภูมิเท่านั้น เพราะเป็นผู้ที่หลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อว่าเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย แต่ความจริง ไม่ใช่ เพราะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะไปอบายภูมิได้อย่างง่ายมาก

สำหรับคฤหัสถ์ที่ได้ศึกษาพระวินัยบัญญัติ ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลมากทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น รวมถึงเกื้อกูลต่อพระภิกษุด้วย ด้วยการไม่ทำในสิ่งที่จะทำให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ เช่น การถวายเงินทองแก่พระภิกษุ เป็นต้น ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เมื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็สามารถรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใด ผิด แล้วสามารถที่จะละทิ้งในสิ่งที่ผิด และ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก ได้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ