[คำที่ ๒๙o] ปิยวาจา

 
Sudhipong.U
วันที่  16 มี.ค. 2560
หมายเลข  32410
อ่าน  606

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปิยวาจา

คำว่า ปิยวาจา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ปิ - ยะ - วา จา] มาจากคำว่า ปิย (เป็นที่รัก ซึ่งไม่ได้เป็นที่รังเกียจ) กับคำว่า วาจา (คำพูด,ถ้อยคำ) รวมกันเป็น ปิยวาจา หมายถึง วาจาอันเป็นที่รัก,ถ้อยคำอันเป็นที่รัก เป็นถ้อยคำที่อ่อนโยน ไพเราะ น่าฟัง ซึ่งมาจากจิตที่เป็นกุศล ไม่ทำให้ทั้งตนเองและคนอื่นเดือดร้อน และ ยอดของการกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก คือ การกล่าวธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พลสูตร ว่า

“การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้ เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รักทั้งหลาย”


ทุกขณะของชีวิต เป็นธรรมทั้งหมด มีแต่สิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่าชีวิตที่ดำเนินไปนั้น ขณะใดบ้างที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม ขณะใดบ้างที่เป็นเหตุ คือ เป็นการสะสมทั้งที่เป็นกุศล และ เป็นอกุศล กุศลและอกุศลในขณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เคยสะสมกุศลและอกุศลประการนั้นมาในอดีต ขณะใดที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกจากนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ

แต่ละบุคคลก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า คำพูดของท่านส่วนมากในชีวิตประจำวัน เป็นคำพูดอ่อนโยนหรือว่าตรงกันข้ามกับคำพูดที่อ่อนโยน เพราะเหตุว่าบางคนก็อยากจะพูดจาอ่อนโยน มีจิตใจที่อ่อนโยน แต่ว่าเหตุการณ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้วาจาที่อ่อนโยนเกิดได้ มักจะเป็นคำพูดที่ดุหรือรุนแรง หยาบกระด้าง เผ็ดร้อน จนกระทั่งเป็นนิสัย โดยที่ไม่ทราบว่าในขณะนั้นสภาพของจิตขาดความเมตตาต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง ถ้าความเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น จะพูดคำไม่น่าฟังอย่างนั้นไม่ได้เลย แต่จะมีการวิรัติงดเว้นวจีทุจริตในขณะนั้นทันที

ถ้าผู้ใดสะสมกุศลธรรมมามากในการที่จะเป็นผู้ที่ใช้คำพูดที่ไม่น่าฟังอย่างนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในวันหนึ่งๆ คำพูดมักจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าคำพูดที่อ่อนโยน และบางคนก็มีข้อแก้ตัวว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องดุ จะต้องพูดอย่างนั้น แต่ถ้าสติเกิด จะระลึกได้ทันทีว่าในขณะนั้นเป็นกุศลธรรม แล้วเกิดหิริ ความละอายต่ออกุศลธรรม เกิดโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม ความเห็นภัยเห็นโทษของกุศลธรรมในขณะนั้น และรู้ด้วยว่า ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นคำพูดที่เป็นไปด้วยกุศลจิต เป็นคำพูดที่อ่อนโยนด้วยจิตใจที่อ่อนโยน โดยไม่จำเป็นที่ต้องเป็นคำดุ หรือว่าเป็นคำที่หยาบคาย เผ็ดร้อนรุนแรง

คำพูดที่อ่อนโยน เป็นที่รัก ที่มีค่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลจริงๆ คือ การกล่าวธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นยอดของปิยวาจาเลยทีเดียว เพราะเป็นคำที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยส่วนเดียว ไม่มีโทษเลยแม้แต่น้อย

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงบ่อยๆ เนืองๆ สติจะระลึกได้ แล้วจะมีความละอายและความเกรงกลัวในกุศลธรรมที่กำลังเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดที่ไม่อ่อนโยนซึ่งไม่น่าฟังเลย แต่ก่อนอื่นจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง มีความจริงใจที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องชำระจิตจากที่มากไปด้วยอกุศล ให้ค่อยๆ สะอาดปราศจากอกุศลได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ