[คำที่ ๒๙๑] สจฺจ

 
Sudhipong.U
วันที่  23 มี.ค. 2560
หมายเลข  32411
อ่าน  329

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สจฺจ”

คำว่า สจฺจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สัด - จะ] มีความหมายหลายอย่าง เช่น ความจริง คำจริง สิ่งที่มีจริง ความจริงใจ ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายว่า ความจริงใจ ซึ่งกล่าวถึงความเป็นไปของธรรมฝ่ายดีทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส ซึ่งจะขาดความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้ และเป็นแกนสำคัญในการรู้แจ้งความจริง ตามความเป็นจริง

ข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก แสดงความเป็นจริงของสัจจะ ความจริงใจ ซึ่งเป็นบารมี (ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ด้วย ว่า

“พึงพิจารณาความถึงพร้อมแห่งสัจจบารมี โดยนัยเป็นต้น ว่า เพราะเว้นสัจจะเสียแล้ว ศีลเป็นต้นก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิญญา เพราะรวมธรรมลามกทั้งปวง ในเพราะก้าวล่วงสัจจธรรม เพราะผู้ไม่มีสัจจะเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ เพราะนำถ้อยคำที่ไม่ควรยึดถือต่อไป มาพูด เพราะผู้มีสัจจะสมบูรณ์เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรมทั้งปวง”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ เป็นคำที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยส่วนเดียว ไม่มีโทษเลยจากคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง และผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม นั้น ต้องเป็นผู้มีความจริงใจที่จะฟัง ที่จะศึกษา ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อขัดเกลาความไม่รู้ของตนเองที่สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งถ้าไม่เริ่มฟังพระธรรมตั้งแต่ในขณะนี้ ก็ชื่อว่า ยังไม่เริ่มที่จะขัดเกลาความไม่รู้

แม้แต่ผู้ที่เป็นบรรพชิต สละอาคารบ้านเรือนมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ก็จะต้องเป็นผู้มีความจริงใจตั้งแต่ก่อนบวชและเมื่อบวชแล้วก็จะต้องสำนึกในความเป็นพระภิกษุตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทั้งหมดเพื่อการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาและน้อมประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่ผิดแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต มีชีวิตเจริญตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะต้องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง จะมามีชีวิตเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้อีกต่อไป

สัจจะ ความจริงใจ เป็นธรรมประการหนึ่งที่ส่งเสริมเกื้อหนุนให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและเจริญขึ้น เพราะว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยสัจจะ ย่อมเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด แล้วเกิดระลึกขึ้นได้ว่า “เราพึงเป็นผู้มีความจริงใจต่อการเจริญกุศล” ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นได้ หรือว่า ในขณะที่อกุศลกำลังเกิด ไม่เป็นผู้ที่จริงใจที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นก็ปล่อยให้อกุศลเกิดขึ้น แต่ว่าขณะที่อกุศลเกิดแล้ว เป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะละคลายอกุศล ขณะนั้นกุศลก็เกิดได้

การดำเนินชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ เป็นการเจริญกุศลที่ละเอียดทุกทาง และทุกท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่กำลังดำเนินรอยตามพระโพธิสัตว์คือจะต้องอบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงชีวิตประจำวันของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระองค์เป็นผู้ที่มีสัจจะ คือ ความจริงใจในการเจริญกุศล เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส, ความจริงใจ เป็นการไม่หลอกลวงตัวเอง และ ไม่หลอกลวงบุคคลอื่น รวมถึงการพูดคำจริง ไม่โกหกหลอกลวงด้วย ท่านที่ศึกษาพระธรรม มีความจริงใจที่จะศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม แต่ถ้าศึกษาเพราะเหตุอื่น คือเพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญหรือเพื่อสักการะ ขณะนั้นไม่ใช่ความจริงใจในการศึกษาพระธรรม ก็ควรที่จะได้พิจารณาจุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาพระธรรม ว่ามีความจริงใจต่อการที่จะเข้าใจพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลส ที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี้คือสัจจะ ความจริงใจซึ่งเป็นบารมีคือเป็นธรรมฝ่ายดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลสด้วย ตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีความจริงใจต่อการที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย สิ่งนั้นก็จะสำเร็จไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของกุศลทั้งหลาย ก็เช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องของทาน การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เรื่องของศีล ความประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจาที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน และ การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ เรื่องของภาวนา การอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ มีความจริงใจ มีความไม่คลาดเคลื่อนต่อการเจริญกุศลทุกๆ ขั้น ทุกๆ ประการ กุศลประการนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นและเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ดังนั้น สัจจะ ความจริงใจ จึงเป็นแกนสำคัญ เป็นบารมีที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเป็นความจริงใจในการเริ่มสละกิเลสตั้งแต่ต้น นั่นเอง และ สิ่งที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีในชีวิตประจำวัน ย่อมไม่พ้นไปจากความเข้าใจพระธรรม ซึ่งเริ่มจากการค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ในเมื่อปัญญายังไม่มี หรือยังมีน้อย ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมเพื่อปัญญาจะได้ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ