[คำที่ ๒๙๒] ปาราชิก

 
Sudhipong.U
วันที่  30 มี.ค. 2560
หมายเลข  32412
อ่าน  329

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปาราชิก”

คำว่า ปาราชิก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ปา - รา - ชิ -กะ] แปลว่า พ่ายแพ้ คือ พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา ขาดจากความเป็นภิกษุ พ้นจากความเป็นภิกษุ ไม่สามารถที่จะดำรงตนเป็นพระภิกษุได้อีกต่อไป ดังข้อความจากสมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ว่า

“บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิก นั้น ย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำให้ห่างจากสัทธรรม (ธรรมที่ทำให้สงบจากกิเลส) ”


พระธรรมวินัย เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำทุกพยัญชนะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อละคลายกิเลส เพื่อกำจัดกิเลส จนกว่าจะถึงกาละที่กิเลสจะดับหมดสิ้นไป ทั้งหมดนั้น ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ศึกษาเมื่อใด เข้าใจเมื่อใดก็เป็นประโยชน์เมื่อนั้น เพราะความเข้าใจพระธรรมวินัย ไม่มีความเสียหายใดๆ เลย มีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สำหรับบุคคลผู้สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เป็นพระภิกษุ แต่ถ้าไม่สำนึกในความเป็นภิกษุ ประมาทมัวเมา ล่วงละเมิดสิกขาบท (บทที่จะต้องศึกษา) ต่างๆ ก็มีโทษ และ การล่วงละเมิดสิกขาบททุกอย่าง ซึ่งเป็นอาบัติในระดับต่างๆ นั้น เป็นเครื่องกั้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน และอาบัติที่หนักสุด คือ อาบัติปาราชิก ทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ขาดจากความเป็นภิกษุทันที มี ๔ สิกขาบท คือ

-ภิกษุเสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์ จะกับผู้หญิง กับผู้ชาย หรือแม้กับสัตว์ดิรัจฉาน ทางทวารหนัก ทวารเบา หรือ ทางปาก) ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ

-ภิกษุมีเจตนาที่จะถือเอาสิ่งของของผู้อื่นมีราคา ๕ มาสก ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ (ราคา ๕ มาสก พิจารณาด้วยการเทียบน้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือเอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา)

-ภิกษุมีเจตนาฆ่ามนุษย์ให้สิ้นชีวิต ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ

-ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ (อุตตริมนุสสธรรม เป็นธรรมอันยอดยิ่งเหนือมนุษย์ ได้แก่ ฌาน มรรค ผล นิพพาน)

เมื่อภิกษุต้องปาราชิกสิกขาบทเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เป็นผู้พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถที่จะเป็นพระภิกษุได้อีกต่อไป โดยไม่ต้องมีใครมาวินิจฉัยชี้ขาด เปรียบเหมือนกับบุคคลผู้มีศีรษะขาด ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เปรียบเหมือนกับใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วที่ไม่สามารถกลับมาเขียวสดได้อีก เปรียบเหมือนกับศิลาแตก ที่ไม่สามารถประสานเข้ากันได้อีก และ เปรียบเหมือนกับตาลยอดด้วน ที่ไม่สามารถเจริญงอกงามได้อีก

แม้ในสมัยพุทธกาล มีพวกภิกษุชาววัชชี เมืองเวสาลี ต้องอาบัติปาราชิก ในข้อเสพเมถุน ได้ขอร้องให้ท่านพระอานนท์ไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อขอโอกาสได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาอีก เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาต่อไปในเพศพระภิกษุ ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปกราบทูลเรื่องดังกล่าวนั้นแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงยกเลิกปาราชิกสิกขาบทที่พระองค์ได้บัญญัติไว้แล้ว

ดังนั้น เมื่อต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ใครๆ ก็ไม่สามารถมาบอกหรือมายกเลิกไม่ให้พระภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิกได้เลย เพราะเมื่อต้องเข้าแล้วในข้อใดข้อหนึ่งในบรรดาปาราชิก ๔ ข้อ ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

ถ้าเป็นผู้ที่สำนึกได้จริงๆ ก็สละเพศ สามารถดำรงอยู่ในภูมิของสามเณร หรือเป็นอุบาสกที่ดีได้ สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในภูมิของสามเณรหรือในเพศคฤหัสถ์ได้ ข้อความจาก มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ก็มีแสดงไว้ว่า ภิกษุผู้ที่ต้องปาราชิกแล้ว มาดำรงอยู่ในภูมิสามเณร หรือเป็นอุบาสก สามารถอบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีได้ หรือไม่ก็สามารถเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้

อาบัติแต่ละกองๆ มีโทษต่างกัน กล่าวคือ อาบัติปาราชิก ต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที, อาบัติสังฆาทิเสส เช่น จับต้องกายหญิง พูดเกี้ยวหญิง เป็นต้น ต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรที่เรียกว่าอยู่กรรม (วุฏฐานวิธี) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้, อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องเข้าแล้วต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก เช่น รับเงินทอง ก็ต้องสละเงินทองนั้นให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยก่อน จึงจะแสดงอาบัติ พ้นจากอาบัติได้, อาบัติส่วนที่เหลือ เมื่อต้องเข้าแล้ว สามารถออกจากอาบัติดังกล่าวนี้ได้ ด้วยแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน แสดงถึงความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะมีอาบัติเป็นเครื่องกั้น (อาณาวีติกกมะ) และถ้ามรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังมีอาบัติติดตัวอยู่ ชาติถัดไปก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ เกิดในอบายภูมิ เท่านั้น

ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการบวชว่า บวชเพื่ออะไร ก็จะทำให้ละเลยถึงกิจที่ตนเองควรทำให้สมกับเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ คือ ละเลยในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมจะผิดไปด้วย ทำให้มีความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ต้องอาบัติด้วยความไม่ละอาย โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร และตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นบรรพชิตเป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้ารักษาไม่ดี ก็ย่อมมีแต่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว คร่าไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ดังนั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า คฤหัสถ์ ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ทั้งนั้น ที่สำคัญคือ จะเห็นประโยชน์ จะเห็นคุณค่าของพระธรรมหรือไม่? การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี โดยที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่ง การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล ก็ต้องจะต้องอบรมเจริญปัญญาและสะสมความดีต่อไป แม้ไม่บวช ก็เป็นคนดีได้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ