[คำที่ ๒๙๔] อกุสีต

 
Sudhipong.U
วันที่  13 เม.ย. 2560
หมายเลข  32414
อ่าน  464

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อกุสีต

คำว่า อกุสีต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลี ว่า อะ - กุ -สี - ตะ] แปลว่า ผู้ไม่เกียจคร้าน ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายว่า ไม่เกียจคร้านในการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าเกียจคร้าน ไม่มีความเพียร ไม่มีความขยันในการเจริญกุศลแล้ว มีแต่จะทำให้อกุศลธรรมเกิดพอกพูนหนาแน่นมากยิ่งขึ้น ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า

"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป"


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่สอนให้เป็นอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้ามีใครก็ตามที่เข้าใจว่า พุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน จะเห็นได้ว่า ผู้นั้น เป็นผู้ที่เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าธรรมที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตประการหนึ่ง คือ ความเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ที่จะต้องดำเนินไป ก็จะต้องมีกิจประจำวันมากมายหลายอย่าง เช่น บุตรธิดาก็มีกิจที่จะต้องช่วยมารดาบิดาตามกิจหน้าที่ของแต่ละบุคคล เป็นต้น ซึ่งควรที่จะต้องเป็นผู้ขยัน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้าน ก็ไม่สามารถจะเกิดกุศลจิตที่จะกระทำกิจนั้นๆ ได้ และที่สำคัญกิจการต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้ด้วยกุศลจิต แต่ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็นการกระทำด้วยอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกิจใหญ่น้อยประการใดก็ตาม

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น แต่ไม่ได้กระทำ ทราบไหมว่าเพราะอะไรจึงไม่กระทำในขณะนั้น ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำให้เป็นคนเกียจคร้านที่จะกระทำกุศล เพราะฉะนั้น คนขยัน โดยเฉพาะขยันที่จะช่วยสงเคราะห์คนอื่น ย่อมกระทำไปด้วยกุศล แต่คนที่ไม่กระทำอะไรในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือใคร ในขณะนั้นถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะไม่รู้เลยว่า อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ทำให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว สำคัญในตน ลืมคิดถึงบุคคลอื่น แม้แต่การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลต่างๆ เหล่านั้น แต่ไม่เห็นหรืออาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น อกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ผิด ส่วนกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ชอบ ซึ่งไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลยเป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ความเมตตาเป็นกุศลธรรมเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ คือสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น แต่ถ้ามานะหรือความสำคัญตนเกิดขึ้น ก็ตั้งจิตไว้ผิด ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบุคคลอื่น บางท่านก็อาจจะจำกัด ทำได้เฉพาะแก่ผู้ที่ท่านเคารพรัก แต่กับคนอื่นทำไม่ได้ นั่นอกุศลธรรมเกิดขึ้น ตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้ตั้งจิตไว้ชอบเลย ถ้าเป็นกุศลธรรมที่ตั้งจิตไว้ถูกจริงๆ ไม่ว่ากับใครเสมอกันหมด คือ สามารถทำสิ่งที่ควรทำต่อบุคคลนั้นๆ ได้ทั้งหมด เป็นกุศลจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทำไปด้วยความหวังแม้ผลตอบแทนคือการผูกพัน ทั้งหมดนั้น ก็คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งสะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ก็ตั้งจิตคือปรุงแต่งจิตในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในทางอกุศล ถ้าสะสมกุศลธรรมมามาก กุศลธรรมทั้งหลายก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในกุศล แสดงถึงความเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น อย่างแท้จริง

โดยสรุปแล้ว คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้สอนให้เป็นผู้เกียจคร้านเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุว่าผู้ที่เกียจคร้านจะไม่ทำความดี จะไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเลย แต่พระธรรมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเป็นการเกื้อกูลให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในการที่จะเป็นผู้ที่ขยันในการที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการขัดเกลาอกุศลของตนเองด้วย เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่กระทำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกุศลโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็เป็นการพอกพูนอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลก็จะต้องมีมาก ถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ ใครๆ ที่เคยเกียจคร้านในการที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็จะได้ทราบว่าขณะนั้นไม่ได้ขัดเกลาอกุศล แต่ว่าเป็นการพอกพูนอกุศลมากขึ้น และความขยันที่ประเสริฐจริงๆ คือ ความขยันในการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อมีปัญญาแล้ว ปัญญานี้เองก็จะเป็นเครื่องนำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล คล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง เกื้อกูลได้โดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศลของตนเอง ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ฟังและเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่ได้อาศัยความดีและความเข้าใจพระธรรมแล้ว นับวันก็มีแต่อกุศลธรรมจะเกิดพอกพูนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นแล้ว เกิดมาแล้วก็ต้องตายจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ก็คือ ความดีและความเข้าใจพระธรรม (ปัญญา) ที่ได้สะสมอบรมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะขาดความขยันในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ