[คำที่ ๒๙๕] วีร
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ วีร ”
คำว่า วีร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วี - ระ] แปลว่า ผู้กล้า กล้าในที่นี้ ไม่ใช่กล้าในทางที่เป็นอกุศล แต่เป็นความกล้าในทางที่เป็นกุศล กล้าที่จะทำความดี กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะละทิ้งในสิ่งที่ผิด มีความเพียรเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ซึ่งถ้าบุคคลใดเป็นอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมที่เป็นที่พึ่งในชีวิต ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมนาถสูตร ว่า
“ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง”
แต่ละบุคคลที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ และ อวิชชา หรือ โมหะซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป และจะเห็นได้ว่าในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา นั้น เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าใครทำอะไรและที่ไหนมาบ้าง เพราะชาติก่อนๆ เป็นเหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่สามารถที่จะรู้ได้ และไม่สามารถย้อนกลับไปได้แม้แต่ขณะเดียว แต่ที่แน่ๆ ในชาตินี้ รู้ได้เลยว่า เราทำอะไรมาบ้างแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
เป็นความจริงที่ว่า ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง เมื่อประมวลแล้ว ได้แก่นามธรรม กับ รูปธรรม นั่นเอง แม้แต่คำที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ คือ วิริยะ ก็เป็นคำที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ วิริยะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง หมายถึง ความเพียร เกิดร่วมกับจิตใด ก็มีความเสมอกันกับจิตนั้น กล่าวคือ ถ้าเกิดร่วมกับกุศลจิต ความเพียรนั้นก็เป็นกุศล เป็นความเพียรที่เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิต ความเพียรนั้นก็เป็นอกุศล
สำหรับวิริยะ นอกจากจะหมายถึงความเพียรแล้ว ยังหมายถึงความกล้าอีกด้วย ดังข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า “ความเป็นไปแห่งความกล้า ชื่อว่า วิริยะ, การกระทำของคนกล้า ก็ชื่อว่า วิริยะ” บุคคลผู้กล้าอย่างสูงสุดไม่มีใครเสมอเหมือน คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามหนึ่งของพระองค์ตามพระคุณ คือ พระมหาวีระ ซึ่งเป็นผู้ทรงองอาจ ทรงแกล้วกล้า ไม่สะดุ้ง ละความขลาดกลัวได้หมดสิ้น และทรงมีพระมหากรุณาให้สัตว์โลกเกิดความเพียรในทางที่ถูกต้องด้วย
ขอยกตัวอย่างความกล้าในทางที่ถูกที่ควร ดังต่อไปนี้
กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวคำจริงเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น กล้าที่จะเป็นผู้ประพฤติสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยที่ไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ไม่กลัวต่อความยากลำบาก ไม่กลัวต่อความขัดสน นี้เป็นลักษณะของความกล้าในทางที่ถูกต้อง หรือ กล้าที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยที่ไม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่รักของอื่น ไม่เกรงว่าจะมีคนเข้าใจเจตนานั้นผิดไป เพราะคำจริงทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย เพื่อให้ผู้อื่นมีความเข้าใจถูกต้อง ผู้ที่เคยหลงผิดไป ก็จะได้ตั้งต้นใหม่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง กล่าวได้ว่า เพื่ออบรมจิต และบ่มปัญญาให้เจริญขึ้น ขัดเกลากิเลสซึ่งสะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ละคำที่เป็นคำจริงนั้น เป็นเครื่องเตือนให้จิตน้อมไปในทางกุศล เกิดความไม่ประมาท และมีกำลังที่จะเพียรไปในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในหนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ในเรื่องการเจริญกุศลทุกประการแล้ว จะขาดวิริยะ ความเพียร ความกล้า ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจ ความสะดวกสบายทุกประการ เพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ แม้การฟังพระธรรมก็ขาดธรรมประเภทนี้ไม่ได้เลย เพราะกล้าที่จะเข้าใจความจริง กล้าที่จะขัดเกลาละคลายความเห็นผิดและความไม่รู้ เป็นต้น จึงฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่จะศึกษา เพราะว่า เมื่อมีความเพียรที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ขอเพียงเป็นผู้เห็นประโยชน์และให้เวลากับพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภมล”
คำว่า โลภมล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โล – พะ – มะ - ละ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความต้องการ) กับคำว่า มล (มลทิน,สิ่งสกปรก เศร้าหมอง) รวมกันเป็น โลภมล แปลว่า มลทิน คือ โลภะ ความติดข้อง ความต้องการ แสดงถึงความจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เกิดกับจิตขณะใด ก็ทำให้จิตขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล โดยมีโลภะ คือ ความติดข้อง เกิดร่วมด้วย โลภะเกิดขณะใด ย่อมเป็นอกุศล ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร ว่า
“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”
สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม สภาพธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปพิจารณา และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปในทันทีทันใด
การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีโอกาสที่กุศลกรรมอื่นจะให้ผล ก็ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเมื่อเป็นผลที่น่าพอใจ ก็ทำให้เป็นผู้มีรูปสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ มีลาภ มียศต่างๆ กันออกไป ตามกรรมที่ได้กระทำ แต่ละคนก็สามารถที่จะพิจารณาผลในปัจจุบัน แล้วรู้เหตุในอดีตว่า เป็นผลของกุศลหรือว่าเป็นผลของอกุศล แต่ว่าผลของกุศลที่ได้รับ จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตหรือกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาอย่างมาก เพราะเหตุว่าทุกคนทราบว่า กุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากที่เป็นผล และผลของกุศลก็คือ การได้รับอิฏฐารมณ์ (สิ่งที่น่าพอใจ) ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับอิฏฐารมณ์ต่างๆ แล้ว ก็ควรจะพิจารณาต่อไปอีกว่า จิตที่เกิดต่อจากนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าผลของกุศลเป็นที่ต้องการ ทุกคนย่อมพอใจที่จะเห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ยังมีความพอใจในผลของกุศลมากไหม หรือว่าบางครั้งบางคราวก็พิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลย และถ้าจะให้ละเอียดจริงๆ ก็คือ ปรากฏเพียงขณะที่กระทบกับจักขุปสาท (ตา) เท่านั้น สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความติดข้อง (โลภะ) ความเหนียวแน่นในสิ่งที่น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยากที่จะละได้ เพราะเหตุว่าติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ความติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจ จึงมีมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน แสดงให้ถึงความเป็นไปของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นอย่างแท้จริง
ตามความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตประจำวันสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการที่จะมีชีวิตอย่างสะดวกสบาย ไม่ขัดสน ไม่เดือดร้อน ก็จริง แต่ว่าควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำให้เกิดอกุศล ที่เป็นความติดข้องในทรัพย์สมบัติอย่างเหนียวแน่น จนยากที่จะละคลายหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะลดละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา
การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษานั้น ก็เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นโทษของกิเลส แล้วก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงชี้ทางที่จะดับกิเลส แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดับกิเลสที่ตนสะสมมาทิ้งไปได้ทั้งหมดในทันทีทันใด แต่ว่าจะต้องอาศัยการเข้าใจในเหตุผลที่ทำให้รู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริง และการที่จะดับกิเลสเหล่านั้น ก็จะต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นจริงๆ ดังนั้น การที่จะลดละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ซึ่งเป็นมลทินเครื่องเศร้าหมองของจิต ได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เท่านั้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.