[คำที่ ๒๙๗] โลภมล

 
Sudhipong.U
วันที่  4 พ.ค. 2560
หมายเลข  32417
อ่าน  251

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภมล

คำว่า โลภมล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โล – พะ – มะ - ละ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความต้องการ) กับคำว่า มล (มลทิน,สิ่งสกปรก เศร้าหมอง) รวมกันเป็น โลภมล แปลว่า มลทิน คือ โลภะ ความติดข้อง ความต้องการ แสดงถึงความจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เกิดกับจิตขณะใด ก็ทำให้จิตขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล โดยมีโลภะ คือ ความติดข้อง เกิดร่วมด้วย โลภะเกิดขณะใด ย่อมเป็นอกุศล ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร ว่า

“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”


สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม สภาพธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปพิจารณา และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปในทันทีทันใด

การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีโอกาสที่กุศลกรรมอื่นจะให้ผล ก็ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเมื่อเป็นผลที่น่าพอใจ ก็ทำให้เป็นผู้มีรูปสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ มีลาภ มียศต่างๆ กันออกไป ตามกรรมที่ได้กระทำ แต่ละคนก็สามารถที่จะพิจารณาผลในปัจจุบัน แล้วรู้เหตุในอดีตว่า เป็นผลของกุศลหรือว่าเป็นผลของอกุศล แต่ว่าผลของกุศลที่ได้รับ จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตหรือกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาอย่างมาก เพราะเหตุว่าทุกคนทราบว่า กุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากที่เป็นผล และผลของกุศลก็คือ การได้รับอิฏฐารมณ์ (สิ่งที่น่าพอใจ) ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับอิฏฐารมณ์ต่างๆ แล้ว ก็ควรจะพิจารณาต่อไปอีกว่า จิตที่เกิดต่อจากนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าผลของกุศลเป็นที่ต้องการ ทุกคนย่อมพอใจที่จะเห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ยังมีความพอใจในผลของกุศลมากไหม หรือว่าบางครั้งบางคราวก็พิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลย และถ้าจะให้ละเอียดจริงๆ ก็คือ ปรากฏเพียงขณะที่กระทบกับจักขุปสาท (ตา) เท่านั้น สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความติดข้อง (โลภะ) ความเหนียวแน่นในสิ่งที่น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยากที่จะละได้ เพราะเหตุว่าติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง ความติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจ จึงมีมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน แสดงให้ถึงความเป็นไปของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้นอย่างแท้จริง

ตามความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตประจำวันสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการที่จะมีชีวิตอย่างสะดวกสบาย ไม่ขัดสน ไม่เดือดร้อน ก็จริง แต่ว่าควรที่จะได้พิจารณาว่า ทำให้เกิดอกุศล ที่เป็นความติดข้องในทรัพย์สมบัติอย่างเหนียวแน่น จนยากที่จะละคลายหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะลดละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษานั้น ก็เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นโทษของกิเลส แล้วก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงชี้ทางที่จะดับกิเลส แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดับกิเลสที่ตนสะสมมาทิ้งไปได้ทั้งหมดในทันทีทันใด แต่ว่าจะต้องอาศัยการเข้าใจในเหตุผลที่ทำให้รู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริง และการที่จะดับกิเลสเหล่านั้น ก็จะต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นจริงๆ ดังนั้น การที่จะลดละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ซึ่งเป็นมลทินเครื่องเศร้าหมองของจิต ได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เท่านั้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ