[คำที่ ๒๙๙] มาน

 
Sudhipong.U
วันที่  18 พ.ค. 2560
หมายเลข  32419
อ่าน  336

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มาน

คำว่า มาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า มา - นะ] แปลว่า ความสำคัญตน ความถือตน มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่า ดีกว่าเขา เสมอกันกับเขา หรือ เลวกว่าเขา เป็นอกุศลธรรมประการหนึ่งที่มีจริงๆ ใครก็ตามที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ มานะ ก็ยังมีอยู่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมซึ่งมีจริงๆ แต่เป็นอกุศลธรรม ที่เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงตัวอย่างของความเกิดขึ้นเป็นไปของมานะ มีว่า

“บุคคลให้มานะ (ความสำคัญตน) เกิดขึ้น เพราะ.- ๑. ได้รูปที่ชอบใจ ๒. ได้ยินเสียงที่ชอบใจ ๓. ได้กลิ่นที่ชอบใจ ๔. ได้รสที่ชอบใจ ๕. ได้โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ที่ชอบใจ รวมเป็นมานะ ๕ ประการ”.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องฝึกที่ดี จากที่มากไปด้วยอกุศลธรรมประการต่างๆ มากมาย ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อได้รับการฝึกด้วยพระธรรม ซึ่งก็คือ ด้วยความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟังได้พระธรรม ได้สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ถึงแม้ว่า อกุศลธรรมที่ได้สะสมมา มีมาก แต่ก็ไม่มีกำลังเท่ากับธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรม เพราะกุศลธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นธรรมที่ละคลายขัดเกลาอกุศล จนกระทั่งสามารถดับอกุศลได้อย่างเด็ดขาด เมื่อกุศลถึงขั้นที่เป็นโลกุตตรกุศล ซึ่งก็คือ มรรคจิต เกิดขึ้นทำกิจดับกิเลสตามลำดับขั้น เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จากที่เคยคิดเอาเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพราะอาศัยเหตุที่สำคัญคือ การฟังพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างมาก เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แม้แต่ในเรื่องของ มานะ ก็เช่นเดียวกัน

มานะ ในทางธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นความสำคัญตน มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น ว่า ดีกว่าเขา เสมอกันกับเขา หรือ ต่ำกว่าเขา เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มานะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล มานะ เมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) ประเภทที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอกุศลธรรมว่า มากมายทีเดียว เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เห็นถึงความหลากหลายของอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องขัดเกลาด้วยกุศลธรรมและความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลาย รวมถึงมานะด้วย เพราะมานะจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

ข้อความจากพระไตรปิฎกที่ยกมานั้น แสดงให้เห็นถึงความล้ำลึกของอกุศลที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน การที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ตาม ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ให้ผลเป็นกุศลวิบาก แต่ก็เป็นปัจจัยให้มานะ (ความสำคัญตน) เกิดขึ้นได้, การได้มาซึ่งสิ่งที่น่าชอบใจนั้น เป็นผลของอดีตกุศลกรรม แต่แม้กระนั้น ด้วยความที่ไม่เข้าใจเรื่องของอกุศลธรรม ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นมีมานะเกิดร่วมด้วยนั่นเอง นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นผู้ได้ยศ หรือ การได้มาซึ่งความสรรเสริญ ก็เป็นที่ตั้งของมานะ ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ที่มีหน้าที่การงานที่ดีเจริญก้าวหน้า ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความสำคัญตนได้, เวลาที่ได้รับคำสรรเสริญจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถ้ารับไม่เป็น ก็ไปหลง ติด ยึดถือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำสรรเสริญก็เป็นแต่เพียงคำที่บุคคลอื่นกล่าวเท่านั้น แต่ว่าใจก็ไปติดอย่างหนาแน่น เหนียวแน่นอย่างจริงจัง มีการฟูขึ้น พองโต ในคำสรรเสริญนั้น ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้อกุศลธรรมยิ่งเพิ่มพูนขึ้น

มานะ ซึ่งเป็นความสำคัญตน นั้น ย่อมไม่มีใครชอบ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่า ใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง สำหรับการขัดเกลามานะ และ อกุศลประการต่างๆ นั้น จะมีได้ ก็ต้องอาศัยการเจริญกุศลทุกประการ พร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน นั่นเอง จะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมพิจารณาไตร่ตรองธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ได้เลย ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้รู้จักกิเลสตามความเป็นจริงและสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ