[คำที่ ๓o๒] มิจฺฉามคฺค

 
Sudhipong.U
วันที่  8 มิ.ย. 2560
หมายเลข  32422
อ่าน  284

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มิจฺฉามคฺค”

คำว่า มิจฺฉามคฺค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า มิด - ฉา - มัก - คะ] มาจากคำว่า มิจฺฉา (ผิด) กับคำว่า มคฺค (หนทาง,ทางดำเนิน) รวมกันเป็น มิจฺฉามคฺค เขียนเป็นไทยได้ว่า มิจฉามรรค แปลว่า หนทางที่ผิด เป็นหนทางที่ไม่นำไปสู่ความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นหนทางที่ทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายพอกพูนหนาแน่นยิ่งขึ้น มีความเห็นผิด เป็นต้น เป็นความประพฤติที่ไม่ประเสริฐเลยแม้แต่น้อย คือ เป็นอพรหมจรรย์ (ความประพฤติที่ไม่ประเสริฐ) ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กุกกุฏารามสูตร ว่า

ข้าพเจ้าได้สดับแล้วอย่างนี้ .- สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระภัททะ อยู่ ณ กุกกุฏาราม ใกล้เมืองปาฏลิบุตร ครั้งนั้น ท่านพระภัททะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ อพรหมจรรย์ เป็นไฉนหนอ. ท่านพระอานนท์ กล่าวว่า ดีล่ะๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างแสวงหาปัญหา ช่างไต่ถาม ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์ๆ ดังนี้ อพรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ. พระภัททะ กล่าวว่า อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. พระอานนท์กล่าวว่า มิจฉามรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด) มิจฉาวาจา (วาจาผิด) มิจฉากัมมันตะ (การงานผิด) มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) มิจฉาวายามะ (เพียรผิด) มิจฉาสติ (ระลึกผิด) มิจฉาสมาธิ (ตั่งมั่นผิด) นี้แล เป็นอพรหมจรรย์.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก และที่สำคัญ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม การที่จะเข้าใจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ชื่อว่าเป็นชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ว่า ทางที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ อะไร นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ ความเห็นชอบ (ปัญญา) ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ และ ความตั้งมั่นชอบ ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นจริงๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด ส่วนการจะดำเนินตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ก็เรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ดำเนินตามทางดังกล่าว ผลก็คือ สามารถไปถึงการดับกิเลสทั้งหลายได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงหนทางที่ถูกต้องแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่ดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ไม่เข้าใจความจริง และไม่สามารถออกไปจากวัฏฏะ ยังเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้นไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เลย เพราะฉะนั้น พระธรรม จึงไม่สาธารณะ (คือไม่ทั่วไป) กับทุกคน ผู้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้วเท่านั้นที่จะเห็นประโยชน์ และพร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง หนทางเดียว ที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง นั้น ต้องฟังพระธรรมต้องศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความตั้งใจจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดนั้นแสดงให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง และสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาในการที่จะรู้ธรรม ต้องเป็นปกติจริงๆ ไม่ใช่ผิดปกติ การไปในหนทางที่ผิด เช่น การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยสติและปัญญา ขาดปัญญาตั้งแต่ต้นไม่ได้เลยทีเดียว พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย แต่ไม่ได้สอนให้ไปทำ หรือไปฝึกสมาธิ แต่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ สมาธิ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สัมมาสมาธิเป็นความตั้งมั่นชอบเป็นไปในกุศลธรรมเป็นไปพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศลเป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือ สัมมาสมาธิ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิดพอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดให้หนาแน่นยิ่งขึ้น หรือแม้แต่คำว่าจงกรม โดยพยัญชนะแล้ว มีความหมายว่า การเดินตามปกติ แต่สำหรับผู้ไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ ซึ่งความจริง ไม่ใช่เลย เพราะเหตุว่า ถ้าเข้าใจธรรม ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็เข้าใจธรรมได้ เพราะทุกขณะ เป็นธรรม

สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ มุ่งหน้าจะปฏิบัติธรรม โดยไม่เข้าใจธรรมที่มีจริงในขณะนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ทางที่ทำให้หลง ทางที่ทำให้ผิด นั้น มีมากอย่างยิ่ง ดังนั้น ที่จะไม่หลงทาง ที่จะไม่ไปทางผิด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกลับมาตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยาก แต่ก็สามารถที่จะเข้าได้ ขอเพียงมีความอดทน มีความเพียร เห็นประโยชน์ต่อการที่จะเข้าใจความจริง เพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ