[คำที่ ๓o๓] สมฺมาวายาม

 
Sudhipong.U
วันที่  15 มิ.ย. 2560
หมายเลข  32423
อ่าน  379

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมฺมาวายาม”

คำว่า สมฺมาวายาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สำ - มา - วา - ยา - มะ] มาจากคำว่า สมฺมา (โดยชอบ) กับคำว่า วายาม (ความเพียร, ความพยายาม) รวมกันเป็น สมฺมาวายาม เขียนเป็นไทยได้ว่า สัมมาวายามะ แปลว่า ความเพียรโดยชอบ,ความพยายามโดยชอบ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ขวนขวายในทางที่ถูกที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเพียรในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาละคลายกิเลสทั้งหลาย

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร แสดงความเป็นจริงของสัมมาวายามะ ไว้ว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมให้เกิดฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วเสีย ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฝือ เพื่อเพิ่มพูนไพบูลย์ เจริญ และบริบูรณ์ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ”


สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น และมีจริงในชีวิตประจำวันด้วย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แม้แต่ที่กล่าวถึงความเพียร ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่มีตัวตนที่ไปทำความเพียร เพราะความเพียรเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเพียรไปทางใด ระหว่างเพียรถูกหรือเพียรชอบ กับ เพียรผิด ซึ่งเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

ความเพียรมีจริงๆ แต่เคยเป็นเราที่เพียร และเคยคิดเอาเอง เพียรบ้าง ไม่เพียรบ้าง เดี๋ยวเพียร เดี๋ยวไม่เพียร ก็เป็นเรื่องไม่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่รู้จักธรรมแล้ว ก็คิดเองผิดๆ มาโดยตลอด แต่การฟังพระธรรม ถ้าเข้าใจความเพียรไม่ว่าจะพบคำว่าความเพียรที่ไหน ไม่ว่าจะในพระสูตร ในพระวินัย หรือในพระอภิธรรม จะเปลี่ยนลักษณะของความเพียรให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเหตุว่าความเพียรเป็นความเพียร เป็นธรรมที่มีจริง ความเพียรไม่ใช่จำ ความเพียรไม่ใช่โกรธ ความเพียร ไม่ใช่ปัญญา

ความเพียร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท เช่น ในขณะที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือ แม้กระทั่งขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ หรือ ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ความเพียรเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศลด้วย ความเพียร ใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้ว เป็นไปเพื่อความเกิดพอกพูนมากยิ่งขึ้นของอกุศลธรรม ทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้นไม่ควรเริ่มตั้ง ไม่ควรประกอบ ในทางตรงกันข้ามความเพียรใดๆ ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้น ควรเริ่ม ควรประกอบ

สำหรับความเพียร ที่เป็นความเพียรโดยชอบ (สัมมาวายามะ) แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น เมื่อว่าโดยสภาพธรรม ก็ได้แก่ วิริยเจตสิก นั่นเอง แต่เป็นวิริยะที่เป็นไปพร้อมกับปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น ควรที่จะได้พิจารณา ว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปในเรื่องใด ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าความเพียรที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจะเป็นความเพียรโดยชอบไปทั้งหมด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปกับด้วยอกุศลแล้ว ไม่ใช่ความเพียรโดยชอบอย่างแน่นอน ที่จะเป็นความเพียรโดยชอบนั้น ก็ต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เป็นไปในการขัดเกลาละคลายกิเลส มีความไม่รู้ ความติดข้องและความเห็นผิด เป็นต้น สำหรับในชีวิตประจำวัน ความเพียรที่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพียรที่จะรู้ว่าธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกๆ ประการเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นความเพียรโดยชอบ ที่ควรประกอบ ควรเจริญ ควรอบรมให้มีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะคล้อยไปสู่การดับกิเลสได้ในที่สุด สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เห็นคุณค่ามหาศาลของของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำที่เกื้อกูลโดยตลอด คือ ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกแล้ว ทุกอย่างก็จะถูกทั้งหมด คล้อยตามความเข้าใจที่ถูก แม้เพียรก็เพียรถูก ไม่ตกไปในฝ่ายที่ผิด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ