[คำที่ ๓o๔] ธมฺมวินย

 
Sudhipong.U
วันที่  22 มิ.ย. 2560
หมายเลข  32424
อ่าน  282

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมวินย

คำว่า ธมฺมวินย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - วิ - นะ - ยะ] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจสิ่งที่มีจริง) กับ คำว่า วินย (นำออกหรือกำจัดซึ่งกิเลส) รวมกันเป็น ธมฺมวินย เขียนเป็นไทยได้ว่า ธรรมวินัย หรือ พระธรรมวินัย หมายถึง พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อกำจัดขัดเกลากิเลส นำออกซึ่งกิเลสได้ในที่สุด ถึงความเป็นผู้พ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด ตามข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จวมานสูตร ว่า

“ท่านเรียกว่า ธรรมวินัย เพราะฝึกด้วยธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่ฝึกด้วยท่อนไม้และศาสตรา, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ธรรมวินัย เพราะการฝึกนั้นประกอบด้วยธรรม, อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ธรรมวินัย เพราะนำเข้าไปหาธรรม เพื่อมรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ”

ข้อความจากพระไตรปิฎก แสดงถึงความเป็นจริงของพระธรรมวินัย ไว้ มีดังนี้

“ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเรา (ตถาคต) แสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้ว แก่พวกเธอ ธรรมและวินัย อันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”

(พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร อุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่เป็นคำสอนของศาสดา อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของศาสดา.

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สัตถุสาสนสูตร)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อเป็นความจริง ก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย ธรรมเป็นความจริงที่จะไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ทรงแสดงความจริงเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นหรือว่าต่อไปในภายหน้าอีกนานแสนนาน ความจริงนี้ก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี้คือความหมายของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และผู้ที่ทรงแสดงสภาพธรรมได้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ด้วยพระหฤทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณาที่มีต่อสัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก พ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมาย นับไม่ถ้วน แล้วพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง ก็ดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมโปรดสัตว์โลกตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งวันหนึ่งๆ ทรงพิจารณาถึงบุคคลผู้ที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด เพื่อจะให้บุคคลนั้นได้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่มีจริง อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าบางคนวันนั้นเขาจะยังไม่สามารถเข้าใจธรรมได้โดยตลอดทั้งหมด แต่เมื่อได้ฟังครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปเขาจักได้ฟังอีก แล้วก็จะเข้าใจอีกเพิ่มขึ้น เพราะว่าแต่ละบุคคลต้องมีการเริ่มต้น ถ้าไม่เริ่มต้นที่จะฟังที่จะศึกษาเลย ก็จะไม่สามารถเข้าใจพระธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้

พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมายนับไม่ถ้วน จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่ว่าผู้ใดจะกล่าวข้อความใด ไม่พึงคัดค้านและไม่พึงเชื่อทันที แต่ต้องตรวจสอบกับพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า ตรงกันหรือไม่ เข้ากันได้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกันไม่ขัดกับสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงไว้ สิ่งนั้นก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่กล่าวโดยชอบ กล่าวถูกต้องคล้อยตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ข้อความต่างๆ ที่นำมากล่าว นั้น ให้ความเข้าใจอะไร ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันหรือไม่ หรือว่า เป็นไปเพื่อความเห็นผิด เป็นไปเพื่อหลงงามงาย? ซึ่งผู้ฟังผู้ศึกษา ก็จะต้องมีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา สามารถแยกแยะได้ด้วย ไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรมาแล้วจะคล้อยตามไปทั้งหมด เพราะว่าถ้าเป็นถ้อยคำหรือข้อความที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะยาวหรือสั้นก็ตาม แต่ถ้าผิดจากความเป็นจริงส่งเสริมให้เกิดความเห็นผิดแล้ว ย่อมไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่โทษอย่างเดียวทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วย

การศึกษาพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสอันอาศัยพระธรรมที่ถูกต้องและพิจารณาใคร่ครวญว่าถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพื่อจุดประสงค์ คือ อาศัยพระธรรมเพื่อจะได้ขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหนสอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือความติดข้องต้องการ ไม่ใช่คำสอน ไม่ใช่พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ไม่รู้ หลงงมงาย สอนให้ไปสำนักปฏิบัติหรือให้ไปสู่ที่หนึ่งที่ใด นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ต้องเป็นไปเพื่อรู้ และขัดเกลาละคลายกิเลสเท่านั้น เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้น ก็จะทำให้เห็นถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงสำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังคำของพระองค์ คือ พระธรรมคำสอนอันเกิดจากการทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นพระธรรมวินัย เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำจริง ผู้ที่เห็นประโยชน์สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน ถ้าเป็นผู้ที่ไตร่ตรองในเหตุผลตามความเป็นจริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ