[คำที่ ๓o๕] อกฺโกธ

 
Sudhipong.U
วันที่  29 มิ.ย. 2560
หมายเลข  32425
อ่าน  720

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกฺโกธ

คำว่า อกฺโกธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อัก - โก - ทะ] มาจากคำว่า (ไม่) แปลง น เป็น อ กับคำว่า โกธ (บุคคลผู้โกรธ,บุคคลผู้มีความโกรธ) ซ้อน กฺ จึงรวมกันเป็น อกฺโกธ แปลว่า บุคคลผู้ไม่โกรธ เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรม ที่ไม่โกรธต่อผู้อื่น จึงหมายรู้ได้ว่า เป็นบุคคลผู้ไม่โกรธ แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของบุคคลอื่นก็ตาม กุศลเกิด อดทนได้ ไม่โกรธ ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนด้วยอกุศลเลยแม้แต่น้อย รักษาประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา พรหมทัตตเถรคาถา ว่า

พระพรหมทัตตเถระ กล่าวคาถาว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น, บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก, บุคคลใด รู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ บุคคลนั้น ชื่อว่า ประพฤติประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น


ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นความจริงที่ว่า ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังมีความโกรธอยู่ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด, บางบุคคล เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความประพฤติดี น่ารัก เกือบจะดูเหมือนว่า ไม่เห็นเขาโกรธ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่ แม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็ยากที่จะไม่เกิดความขุ่นใจ ความไม่สบายใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของโทสะเช่นเดียวกัน

ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ขุ่นใจนิดเดียว ก็รู้สึกตัวได้ว่า นั่นคือ ลักษณะของความโกรธแล้ว แม้จะไม่มากถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตทั้งทางกาย และ ทางวาจา แต่ว่าบุคคลใดที่มีความขุ่นใจ ไม่พอใจ คนนั้น ย่อมรู้ ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ความโกรธปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่เจริญเมตตา (ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน หวังดี) และมีความละเอียดก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องเป็นผู้มีความละเอียดและเข้าใจตามความเป็นจริงว่าทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามี ยังมีความโกรธอยู่ โกรธแล้วก็ดับไป แต่ถ้าเพียงโกรธแล้วก็ดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ก็ย่อมจะดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะไม่เป็นความคิดโกรธแบบไม่จบ คิดอีก แล้วก็โกรธอีก จนกระทั่งไม่ลืม เวลาที่โกรธแล้วไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงกับเป็นความคิดที่จะประทุษร้าย ก่อร้าย ปองร้ายต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญเมตตา ไม่อบรมเมตตาก็ไม่สามารถจะระงับความโกรธได้เลย ถ้าเห็นโทษของความโกรธซึ่งเป็นอกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้เริ่มเจริญเมตตา แม้ในขณะนี้เอง

พระธรรมแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แม้แต่ข้อความที่ว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น ซึ่งควรพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง

บางคนอาจจะคิดว่า คนที่โกรธก่อน น่าจะเป็นคนเลวกว่า แต่เวลาที่เมื่อคนอื่นโกรธเราแล้ว แล้วเราก็โกรธเขาบ้าง ทำไมเราถึงจะเป็นคนเลวกว่าบุคคลนั้น ความคิดอย่างนี้อาจจะมีได้ แต่ที่ถูกแล้วควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุว่าเวลาที่บุคคลใดโกรธ ก็เป็นกุศลของบุคคลนั้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังโกรธตอบสภาพของจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น (ใครจะเลวกว่ากัน?) แล้วถ้ามีการโกรธตอบ มีการโต้ตอบกัน ก็จะไม่เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เพราะต่างฝ่ายต่างก็เป็นอกุศลด้วยกันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก สงครามที่ว่านั้น คือ สงครามในใจ ได้แก่ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) นั่นเอง โดยมากทุกท่านอยากจะชนะสงครามที่บุคคลอื่น อยากจะชนะบุคคลอื่น แต่ว่าเวลาที่กำลังจะชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ก็คือ ชนะกิเลสของตนเองในขณะนั้น แล้วก็เห็นโทษจริงๆ ว่า บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะเหตุว่าคนผู้โกรธ จะโกรธช้าหรือโกรธเร็ว ก็เป็นคนเลว เพราะมีกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะที่กุศลจิตเกิด จะบอกว่าเป็นคนดี ไม่ได้ แต่บุคคลผู้โกรธตอบ เป็นผู้ที่ทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นกุศล ก็ยังมีกุศลจิตเกิดด้วย เพราะฉะนั้น บุคคลผู้โกรธตอบ จึงเลวกว่าบุคคลผู้โกรธก่อน

บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่า ประพฤติประโยชน์แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนย่อมจะเห็นด้วยกับข้อความนี้ เพราะสภาพจิตที่ดีงาม ไม่เคยเบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย

พระธรรม เป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด และลึกซึ้ง ผู้ที่ยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้อบรม ย่อมจะรู้สึกว่า จะเป็นอย่างนี้ไม่ได้, แต่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้ และเกิดประโยชน์จริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม แล้วเห็นโทษของกิเลสที่มีสะสมอยู่ในใจมานานแสนนาน พร้อมทั้งรู้ว่าหนทางเดียวที่จะละได้ ก็ด้วยการที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่า กิเลส กุศลทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรจะสะสมให้มากขึ้น นั่นเอง ที่พึ่งที่แท้จริง จึงไม่พ้นไปจากการมีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีน้อย เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ