[คำที่ ๓o๖] อวิชฺชลงฺคี

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.ค. 2560
หมายเลข  32426
อ่าน  326

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อวิชฺชาลงฺคี”

คำว่า อวิชฺชาลงฺคี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อะ - วิด - ชา - ลัง - คี] มาจากคำว่า อวิชฺชา (ความไม่รู้) กับคำว่า ลงฺคี (ลิ่มสลัก) รวมกันเป็น อวิชฺชาลงฺคี เขียนเป็นไทยได้ว่า อวิชชาลังคี แปลว่า ลิ่มสลักคืออวิชชา (ความไม่รู้) หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นดุจลิ่มสลัก แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งไม่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้เลย ไม่นำพาไปสู่ประโยชน์ทั้งปวง เป็นสิ่งที่ถอนขึ้นได้ยาก

ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของ อวิชฺชาลงฺคี (ลิ่มสลักคืออวิชชา) ไว้ว่า

“ชื่อว่า ลังคี เพราะอรรถว่า ถอนขึ้นได้ยาก, เหมือนอย่างว่า ลิ่ม กล่าวคือ กลอนเหล็กใหญ่ เป็นของถอนขึ้นโดยยาก ฉันใด อวิชชา ก็ฉันนั้น เป็นราวกะลิ่ม เพราะฉะนั้น อวิชชานั้น จึงชื่อว่า ลังคี (ลิ่ม) ”.


กิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ย่อมทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทั้งโลภะ (ความติดข้องต้องการ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) อวิชชา (ความไม่รู้) เป็นต้น สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ มากมาย ในชีวิตประจำวันในภพนี้ชาตินี้ก็ยังไม่พ้นไปจากกิเลสเหล่านี้ เป็นผู้ถูกกิเลสกลุ้มรุมเกือบจะตลอดเวลาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเลย ซึ่งไม่เพียงแต่ในชาตินี้เท่านั้นที่มีกิเลสมาก โดยมีอวิชชา ความไม่รู้ เป็นหัวหน้า ย้อนกลับไปในอดีตชาติอันยาวนานที่ผ่านมา ก็มีกิเลสมาก มีความไม่รู้มากเหมือนกัน สะสมสืบต่อจนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ และยังจะต้องเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ทำให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ทันทีที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ติดข้องพอใจ หรือ โกรธ ขัดเคือง ไม่พอใจแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ากิเลสที่สะสมมา มีมากเหลือเกิน กำลังจมอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ไปได้ ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สำหรับ อวิชชา ความไม่รู้ นั้น ก็ได้แก่ ไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา สำหรับสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงๆ ในขณะนี้ ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่พ้นจากธรรมเลย ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงโดยนัยของขันธ์ (สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) โดยนัยของธาตุ (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น) ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขณะนี้มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีขณะไหนเลยที่ไม่ใช่สภาพธรรม ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ขณะกุศลจิตเกิด ขณะกุศลจิตเกิด เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมจึงไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงในขณะนี้ หากไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจว่า อะไรคือธรรม ธรรมอยู่ในขณะไหน เป็นต้น ก็จะไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้เลย, เมื่อไม่เข้าใจความจริง ย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมที่มีจริงในขณะนี้ กล่าวคือไม่รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม จึงหลงยึดถือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด, เมื่อถูกอวิชชาความไม่รู้ครอบงำ ย่อมทำให้ไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริง แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่รู้ ทำให้ยังต้องเกิดอีกร่ำไป และจะต้องประสบกับความทุกข์ทั้งกายและใจอันเนื่องมาจากการเกิดอีกมากมาย อวิชชา จึงเป็นลิ่มสลักที่ถอนขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง

บุคคลผู้ที่ยังมีวิชชา ยังมีความไม่รู้ เป็นเครื่องปกปิด เป็นเครื่องปกคลุมไว้ จึงทำให้มีความติดข้องยินดี พอใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดข้องในทรัพย์สมบัติ ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไปเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการแสวงหาในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ ก่อนจะได้มาก็อยากได้ มีการแสวงหา และเมื่อได้มาแล้วก็ติดข้องยินดีพอใจต่อไปอีก ทำให้จมอยู่ในห้วงของกิเลสมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว บุคคลไม่สามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปในภพหน้าได้เลย ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ (ซึ่งตามความเป็นจริงก็ทิ้งอยู่ทุกขณะ พลัดพรากอยู่ทุกขณะ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น) มีแต่การสะสม ทั้งที่ดีและไม่ดี เท่านั้นจะติดตามไปได้ในจิตแต่ละขณะ

ในชาตินี้ ยังเป็นผู้มีกิเลสมาก กุศลจิตเกิดบ่อยมาก ในขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็มีอวิชชาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ก็สะสมความไม่รู้มากขึ้นเรื่อยๆ และปัญญาก็ยังไม่เจริญ ถ้าหากว่าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีบ่อยๆ เนืองๆ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน แล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา และจะตายไปพร้อมกับความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบได้ ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่ควรประมาทในชีวิต ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ และสิ่งสำคัญที่สุด ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพราะความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ดังนั้น หนทางที่จะละความไม่รู้ ซึ่งเป็นดุจลิ่มสลักได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อเห็นคุณค่ามหาศาลของแต่ละคำที่เป็นคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ละเลยโอกาสที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไป.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ