[คำที่ ๓o๗] ธมฺมกาม

 
Sudhipong.U
วันที่  13 ก.ค. 2560
หมายเลข  32427
อ่าน  334

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมกาม”

คำว่า ธมฺมกาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - กา - มะ ] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับคำว่า กาม (ใคร่,ปรารถนา, ประสงค์,ต้องการ) รวมกันเป็น ธมฺมกาม แปลว่า บุคคลผู้ใคร่ธรรม แสดงถึงความเป็นไปของธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไป เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีการฟัง มีการศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จึงหมายรู้ได้ว่า บุคคลผู้นั้น เป็นผู้ใคร่ธรรม

ข้อความบางตอนจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตร แสดงถึงความเป็นผู้ใคร่ธรรม ไว้ดังนี้ ว่า

“ก็ บุคคลนี้ ซึ่งเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ คือ เขา ย่อมใคร่ ย่อมกระหยิ่ม (ยินดี) ย่อมปรารถนา ย่อมฟัง (พระธรรม) ย่อมปฏิบัติซึ่งธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ (เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง) ”.


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ที่จะทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามความเป็นจริง และทรงมีพระมหากรุณาแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอกุศลต่างๆ มากมาย เพราะว่าอกุศลทั้งหลายเพิ่มขึ้นในแต่ละขณะที่ไม่รู้ เมื่อมีความเข้าใจถูก คือ ปัญญา ก็สามารถรู้ว่า สิ่งใดเป็นอกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี และธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี คือ ความดีนั้น เป็นอย่างไร ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เนื่องจากว่าชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง (ปัญญา) ปัญญา จึงเป็นเหมือนแสงสว่างก็จะนำไปสู่ทางของกุศล ห่างไกลจากอกุศลซึ่งเคยมีมากมาย แต่ว่าห่างทันทีไม่ได้เลย ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

ตามความเป็นจริงแล้ว คำสอนใดก็ตามที่นำไปสู่ความอยาก หรือความต้องการ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำสอนใดที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่มีค่าอย่างมาก เพราะเหตุว่าเป็นวาจาสัจจะ เป็นคำจริงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้เลย และบางคนก็จากโลกนี้ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่รู้ ต่อไปอีกถึงชาติหน้า ชาติไหนๆ เหมือนชาติก่อนๆ ที่ผ่านมา ก็แล้วแต่ว่าจะได้สะสมการได้ยินได้ฟังพระธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเปรียบเทียบความไม่รู้กับความรู้ ก็จะเห็นได้ว่า ความไม่รู้ มีมากมายมหาศาล จะมีตัวตนที่จะไปเร่งรัดที่จะไปทำให้ความไม่รู้หมดสิ้นไป ทำให้โลภะหมดสิ้นไป ทำให้โทสะหมดสิ้นไป ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นความเพ้อฝัน ไม่ใช่ความจริง

ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้มีความเคารพในพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะว่าพระธรรมทุกคำลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญญารู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายอกุศล มีหนทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเป็นผู้ใคร่ธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม

จากข้อความที่ว่า “ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้เจริญ” นั้น คำว่า ใคร่ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความพอใจ เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมจะมีแต่ความเจริญ ด้วยคุณความดีและปัญญาที่เจริญขึ้น ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่ประมาทมัวเมา กระทำแต่อกุศลกรรม ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้สะสมปัญญาเลย ย่อมเป็นผู้เสื่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทุกๆ ประการ เนื่องจากเป็นผู้เกลียดคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เข้าใกล้เพื่อจะฟังคำของพระองค์ ย่อมไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้เลย เมื่อไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ไม่มีทางที่คุณความดีและปัญญาจะเจริญขึ้นได้เลย มีแต่ความเสื่อมโดยส่วนเดียวเท่านั้น

จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะเข้าใจว่าตนเองเต็มไปด้วยความไม่รู้ คือ อวิชชา และกิเลสทั้งหลายที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เริ่มฟัง ไม่มีความปรารถนาที่จะฟังพระธรรม เลย ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเจริญขึ้นไม่ได้ นับวันมีแต่จะพอกพูนความไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟัง จึงศึกษา เพื่อละคลายความไม่รู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ย่อมจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เท่านั้น ที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้ ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีจริงๆ ปัญญาที่ได้สะสมในขณะนี้ ไม่สูญหายไปไหน ยังสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะมีกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้นถ้าได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมต่อไป ทำให้เห็นคุณของพระธรรม ว่า อนุเคราะห์เกื้อกูลให้ชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งเกิดมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ได้มีโอกาสได้รู้ความจริงซึ่งยากที่จะรู้ เมื่อรู้แล้วก็เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของพระธรรม เป็นผู้อดทน ไม่ท้อถอยต่อการที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมต่อไป พร้อมทั้งทำความดีทุกขณะที่สามารถจะกระทำได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นคุณลักษณะของความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ