[คำที่ ๓o๘] อปณฺณกปฏิปทา

 
Sudhipong.U
วันที่  20 ก.ค. 2560
หมายเลข  32428
อ่าน  515

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อปณฺณกปฏิปทา

คำว่า อปณฺณกปฏิปทา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อะ - ปัน - นะ - กะ - ปะ - ติ - ปะ - ทา] มาจากคำว่า อปณฺณก (ไม่ผิด, ตรง ,ถูกต้อง) กับคำว่า ปฏิปทา (ข้อประพฤติปฏิบัติ,ทางดำเนิน) รวมกันเป็น อปณฺณกปฏิปทา เขียนเป็นไทยได้ว่า อปัณณกปฏิปทา แปลว่า ข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิด, ทางดำเนินที่ไม่ผิด ซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น เพราะถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว จะไม่นำพาไปในทางที่ผิดเลย มีแต่จะนำไปสู่ทางที่ถูกต้องจนถึงการสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เพราะข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดทั้งหมด ขาดปัญญาไม่ได้ จึงจะเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปธานสูตร แสดงถึงข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิด และ ได้เริ่มเหตุที่จะทำให้ถึงความเป็นผู้สิ้นอาสวะ (กิเลสที่หมักดอง ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไว้ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่า อปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติไม่ผิด) และ เหตุแห่งความสิ้นอาสวะ ชื่อว่า ภิกษุนั้นได้เริ่มแล้ว ธรรม ๔ ประการคืออะไร? คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว ๑ เป็นผู้มีปัญญา ๑ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่า อปัณณกปฏิปทา และ เหตุแห่งความสิ้นอาสวะ ชื่อว่า ภิกษุนั้นได้เริ่มแล้ว”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แต่ละคำๆ ที่พระองค์ทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาซึ่งไม่รู้ ได้รู้ความจริง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของผู้ฟังเอง, เรื่องการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ถ้าใครก็ตามที่มีความคิดว่าอยากจะปฏิบัติเท่านั้น อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว จะไม่ฟังพระธรรม เพราะคิดว่าเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ส่วนการฟังพระธรรมนั้นไม่สำคัญ เป็นเรื่องเสียเวลา ต้องไปปฏิบัติเลย ถ้าผู้ใดคิดอย่างนี้ ผู้นั้นจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ฟังพระธรรม ก็ย่อมไม่เข้าใจพระธรรม เมื่อไม่เข้าใจแล้ว จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร มีแต่ปฏิบัติผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะว่าในขณะนี้ เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าไม่ฟังพระธรรมซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ก็จะไม่มีความเข้าใจพอที่จะสติและปัญญาจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่ฟังพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จึงกล่าวได้ว่า เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด เป็นหนทางที่ผิด ไม่ตรงต่อการเข้าใจความจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ที่จะต้องได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่า พระพุทธศาสนา จึงจะดำเนินไปหนทางที่ถูกต้องได้

คำว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของท่านผู้รู้ ผู้รู้ในที่นี้หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ไม่มีผู้ใดเปรียบ ทั้งพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และ พระมหากรุณาคุณ เมื่อเป็นคำสอนของผู้ทรงตรัสรู้ความจริง ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ความรู้ความเข้าใจ จึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ศึกษาให้เข้าใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร พระองค์ทรงสอนให้สาวกรู้อะไร เป็นต้น ความรู้ความเข้าใจ เกิดเองไม่ได้ คิดเองไม่ได้ แต่ต้องมาจากเหตุ คือ การฟัง การศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ละทิ้งขณะที่สำคัญของชีวิต คือ ฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง

การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ต้องเป็นไปตามลำดับ กล่าวคือ ผู้ศึกษาต้องฟังพระธรรมคำสอนของพระองค์ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำ ซึ่งเป็นการศึกษาในขั้นของปริยัติ เป็นการรอบรู้ในพระธรรมคำสอน เมื่อฟังเข้าใจแล้วจึงมีเหตุปัจจัยให้น้อมประพฤติปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งไม่มีตัวตนที่ปฏิบัติ แต่เป็นธรรมปฏิบัติหน้าที่ของธรรม คือ สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อปฏิบัติตามคำสอนจึงจะมีผลคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมละกิเลสได้ตามลำดับขั้น เป็นขั้นปฏิเวธ คือ การแทงตลอด การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม, ปฏิเวธจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และการปฏิบัติอย่างถูกต้องจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บุคคลผู้เข้าใจในปริยัติอย่างถูกต้อง ด้วยการฟัง การศึกษาพระธรรม ก็สามารถดำเนินไปถึงการพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ศึกษาผิด เข้าใจผิด เห็นผิดว่าไม่ต้องศึกษาปริยัติ ไม่ต้องมีปริยัติ ไปปฏิบัติเลย อย่างนี้ เป็นการบิดเบือนพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวให้ผู้อื่นออกจากพระสัทธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วให้ตั้งอยู่ในสัทธรรมซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการตัดโอกาสในการฟังคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา เพราะเป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น

เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธ ผู้ที่เรียกตนเองว่า ชาวพุทธ จะได้หวนกลับมาเห็นคุณค่าอย่างมากมหาศาลของพระธรรมแต่ละคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงที่เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะได้ฟังพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ซึ่งเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น เป็นเหตุเบื้องต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความถูกต้องทั้งหมด ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ซึ่งเมื่อปัญญาเจริญขึ้น สภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ ก็จะเจริญคล้อยตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น มีความประพฤติที่ดีงาม มีความเพียรเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร นำไปสู่ทางแห่งการขัดเกลาละคลายกิเลส จนถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นหนทางที่ถูกต้อง ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ