[คำที่ ๓๑๑] ลามกภิกฺขุ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ลามกภิกฺขุ”
คำว่า ลามกภิกฺขุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ลา – มะ – กะ - พิก - ขุ] มาจากคำว่า ลามก (ต่ำทราม, ชั่ว) กับ คำว่า ภิกฺขุ (พระภิกษุ,ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์) รวมกันเป็น ลามกภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุที่ต่ำทราม, ภิกษุที่ชั่ว แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งคือเพศบรรพชิตแล้ว แต่ไม่รักษาพระวินัย ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ขัดเกลากิเลส ล่วงละเมิดพระวินัย เป็นภิกษุที่ต่ำทราม ซึ่งไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย สะสมโทษให้กับตนเอง เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ มี นรก เปรต เป็นต้น เพราะการล่วงละเมิดพระวินัย ถ้าไม่สำนึกในโทษโดยความเป็นโทษและไม่แก้ไขตามพระวินัย ก็เป็นผู้มีอาบัติ (โทษทางพระวินัย) ติดตัวอยู่ และยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุอยู่ หากมรณภาพไป ชาติต่อไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชนานหรือพึ่งจะบวชก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระภิกษุ ก็เกิดในอบายภูมิได้ ตามข้อความจาก พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เรื่องภิกษุเปรต ดังนี้ คือ
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าว (กับพระลักขณะ) ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพตเขตพระนครราชคฤห์ นี้ ได้เห็นภิกษุเปรต ลอยไปในอากาศ สังฆาฏิ บาตร ประคดเอว และ ร่างกายของภิกษุเปรต นั้น ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้น ร้องครวญคราง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปรต นั้น เคยเป็นภิกษุผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า.
พระภิกษุ คือ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส จึงสละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ที่จะต้องมีชีวิตที่เหมาะควรแก่เพศของตน จะมาทำอะไร หรือ มีอะไรต่างๆ เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เลย เพราะสละชีวิตคฤหัสถ์แล้ว อย่างเช่น บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติแล้วออกบวช เป็นพระภิกษุ ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันทั้งหมด คล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้คือ จุดประสงค์ของการบวชเป็นพระภิกษุ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น และที่สำคัญ พระภิกษุทุกรูปทั้งหมดทุกยุคทุกสมัย ต้องมีความเคารพในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่งทุกประการ
จะเห็นได้ว่า การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่บวช โดยไม่ใช่เพราะขัดเกลากิเลสหรือเพราะเข้าใจธรรม ถ้าหากล่วงละเมิดพระวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีโทษมากมาย ด้วยการต้องอาบัติคือล่วงละเมิดพระวินัยซึ่งมีโทษโดยส่วนเดียว เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืน (คือไม่ได้แก้ไข) ตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน และกั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้ทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง กำลังทำทางที่จะทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เหมือนอย่างตัวอย่างพระภิกษุที่ประพฤติไม่ดี ล่วงละเมิดวินัย ไม่เห็นโทษของกิเลส บริโภคปัจจัย (สิ่งที่เกื้อกูลให้ชีวิตเป็นไปได้) ๔ กล่าวคือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา แต่ไม่ได้มีคุณความดีอะไรเลย เป็นภิกษุลามก คือ ต่ำทรามชั่วช้า ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย เมื่อมรณภาพ คือ ตายจากชาตินั้นไปแล้ว ก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกนานแสนนาน พอพ้นจากการเกิดเป็นสัตว์นรกแล้ว ก็เกิดเป็นเปรต มีรูปร่างเหมือนพระภิกษุ ทรงบาตร ทรงจีวร ลอยอยู่ในอากาศ แต่ถูกไฟแผดเผาได้รับความทุกข์เดือดร้อนร้องครวญคราง โดยไม่มีใครทำให้เลย แต่เป็นเพราะความประมาท ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย นั่นเอง เหตุที่ไม่ดี ทั้งหมด นำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสู่สุคติภูมิได้เลย
ข้อที่น่าพิจารณา คือ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวช แต่เป็นคฤหัสถ์ผู้ดำรงตนอยู่ในธรรมอันดีงาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และมีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย กล่าวได้ว่า ชีวิตในชาตินี้ย่อมไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ก็ย่อมจะดีกว่าบวชไปแล้วเป็นภิกษุที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม เพราะเหตุว่า เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมน้อมประพฤติตามพระธรรม ตามควรแก่เพศของตน สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าได้ นี้แหละคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ
ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้เป็นผู้มีเหตุมีผล ไม่ทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ได้พิจารณาในความเป็นจริง เพราะได้อาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ด้วยการตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพ เพราะเหตุว่าทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ (จาก) คนที่เคยไม่เข้าใจอะไรเลย เป็นผู้ที่เข้าใจความจริงขึ้น กล่าวคือ มีปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น และปัญญานี้เองจะค่อยๆ ปรุงแต่งให้ความคิด การกระทำและคำพูดทั้งหมดในชีวิตประจำวันเป็นไปในทางที่ถูกต้อง น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ