[คำที่ ๓๑๓] ปุญฺญเตช

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ส.ค. 2560
หมายเลข  32433
อ่าน  475

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรม ประจำสัปดาห์ ปุญฺญเตช

คำว่า ปุญฺญเตช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ปุน - ยะ - เต - ชะ] มาจากคำว่า ปุญฺญ (สภาพธรรมที่ชำระซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย) กับ คำว่า เตช (เดช, ธรรมที่เผาผลาญธรรมที่ตรงกันข้าม) รวมกันเป็น ปุญฺญเตช แปลว่า เดชแห่งบุญ, ปุญญเดช หมายถึง บุญซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เผาผลาญธรรมที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ เผาผลาญหรือละอกุศลธรรมทั้งหลาย ปุญญเดช สูงสุด แสดงถึง บุญในระดับที่สามารถดับอกุศลธรรมทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น จนถึงดับได้หมดสิ้นไม่เหลือเลย ไม่มีอกุศลธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

ข้อความจาก สัทธรรมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของปุญญเดช ไว้ว่า

“บทว่า ปุญฺญเตโช (ปุญญเดช) คือ อริยมรรคกุศลเดช อันเป็นที่ตั้งได้ด้วยวิปัสสนา (ปัญญาที่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง)”


ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นแสนสั้นมาก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายได้แม้แต่คนเดียว แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่หวนกลับมาได้อีก นี้คือความเป็นไปของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

ควรที่จะได้พิจารณาว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบพระสัทธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลให้มีความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ได้โดยยากแสนยากในสังสารวัฏฏ์ เมื่อเทียบกับการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกๆ วัน ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอว่า ชีวิตอาจจะอยู่ไม่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะสิ้นชีวิตก่อนถึงวันพรุ่งนี้ก็ได้ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรม ก็ควรเห็นประโยชน์ที่จะฟัง สะสมปัญญาในทันที มีโอกาสที่จะได้สะสมกุศล ก็สะสมทันทีเจริญทันที เป็นการเติมความดีลงในจิตใจของตนเองทุกๆ วัน เพื่อชำระล้างอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะถ้าไม่คอยเติมความดีแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

เป็นความจริงที่ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ บุญคือกุศลจิต ขณะใดปราศจากโลภะ (ความติดข้องต้องการ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้ความจริง) ขณะนั้นคือบุญ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม สำคัญอยู่ที่ว่ากุศลจิตเกิดขึ้นหรือไม่ในขณะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ การให้ทานช่วยเหลือผู้อื่น การมีเมตตาต่อผู้อื่น การขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ล้วนเป็นบุญทั้งนั้น ซึ่งเป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา

บุญ นำมาซึ่งความสุข ไม่ให้ผลที่เป็นทุกข์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย บุญ จึงเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรประมาทว่านิดหน่อย เล็กน้อย หรือไม่ควรประมาทว่าได้กระทำเพียงพอแล้ว เพราะดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ แต่ควรที่จะเจริญบ่อยๆ สะสมบ่อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

บุคคลผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของบุญ มีปัญญารู้ว่าบุญ เป็นที่พึ่ง นำสุขมาให้ ก็ย่อมจะอบรมเจริญสะสมไปเรื่อยๆ ตามกำลัง ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งในการเจริญคุณความดีทุกประการ ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศลจึงจะลดน้อยลง เบาบางลงได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ประมาท ไม่ได้เจริญคุณความดีอะไรๆ เลย อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมจะเบาบางไม่ได้เลย มีแต่จะพอกพูนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่ได้ฟังพระธรรม ด้วยความเคารพ ด้วยความไม่ประมาท ในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเกิดประโยชน์ คือ ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าฟังพระธรรม ก็เพื่อประโยชน์ คือ เป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อมีโอกาสที่จะเจริญความดีประการใด ก็เจริญทันที สะสมทันที พร้อมทั้งเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ ความติดข้อง แล้วค่อยๆ ขัดเกลาอกุศลทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจของตนเอง จนกว่าจะละได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย) นี้คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม ซึ่งบุคคลผู้มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง และ บุญสูงสุด คือ บุญในระดับโลกุตตระ ที่สามารถดับอกุศลทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น สูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากอกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง เป็นสภาพธรรมที่เป็นเดชอย่างแท้จริง เพราะสามารถดับหรือเผาผลาญอกุศลธรรมทั้งหลายได้จนหมดสิ้น ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการอบรมเจริญปัญญา นั่นเอง สิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องอุปการเกื้อกูลอย่างยิ่ง คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุปการะเกื้อกูลทำให้เกิดสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ