[คำที่ ๓๑๕] หิริ

 
Sudhipong.U
วันที่  7 ก.ย. 2560
หมายเลข  32435
อ่าน  290

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “หิริ”

คำว่า หิริ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า หิ - ริ] แปลว่า ความละอายต่ออกุศลทั้งหลายทั้งปวง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่รังเกียจหรือละอายต่อสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี มีการถอยกลับจากสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี และ ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี เมื่อหิริเกิดขึ้นเป็นไปกับจิตขณะใด จิตขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม ไม่เป็นอกุศลเลย

ข้อความบางตอนจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของหิริ ไว้ว่า

“การที่บุคคลก้าวลงสู่ธรรม คือ ความละอายภายในแล้ว ไม่ทำบาป เหมือนคนฉลาดไม่จับก้อนเหล็กเย็น ที่เปื้อนคูถ เพราะความรังเกียจ”.


ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีความเสมอกันโดยความที่มีสภาพธรรม กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้) เกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่แตกต่างกัน คือ การสะสม และ การได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย คนที่มีความประพฤติที่ไม่ดี ขาดความละอายต่ออกุศลซึ่งเป็นความชั่วทั้งหลายทั้งปวง ขาดความเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มีความประพฤติผิดประการต่างๆ นั้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นแต่ธรรม คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลยแม้แต่น้อย เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงคนทั้งโลกให้มีความประพฤติที่ดีงามเหมือนกันทั้งหมดได้ เพราะย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ถึงแม้จะมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าได้เริ่มเห็นโทษของอกุศลบ้าง จากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ย่อมจะดีกว่าที่เป็นอกุศลแล้ว ไม่เห็นโทษ และ ไม่ถอยกลับจากอกุศลเลย ที่จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และถอยกลับจากอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อกุศลที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ สะสมท่วมทับอย่างมากมาย จะค่อยๆ ละคลายให้เบาบางลงจนกระทั่งสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือเลย นั้น ก็ต้องด้วยปัญญา

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูลให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาอกุศลในชีวิตประจำวัน มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถดับอกุศลธรรมทั้งหลายได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องมีปัญญา ก็จะเห็นความอัศจรรย์ของปัญญาได้ว่า สามารถดับอกุศลได้จนหมดสิ้นจากใจ พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับอกุศลได้ตามลำดับขั้นนั้น อกุศลที่ท่านได้สะสมมา ก็ยังมีอยู่ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่เมื่อใดที่ปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับอกุศลได้ ก็สามารถดับอกุศลได้ตามลำดับ อกุศลที่ดับได้แล้วก็จะไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ และผู้ที่จะไม่มีอกุศลใดๆ เลยนั้น คือ พระอรหันต์ ดังนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับอกุศลได้ตามลำดับ ความประพฤติที่ไม่ดีประการต่างๆ ก็ย่อมจะมีได้ เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับการขัดเกลาด้วยพระธรรมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ

ประโยชน์จากการได้ฟังพระธรรม คือ เข้าใจถูกเห็นถูก ว่า มีแต่ธรรม เท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อประมวลแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากนี้เลย แต่ก็ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะเห็นได้ว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจากธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ โดยเฉพาะ หิริ ความละอายต่ออกุศล ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่น หวังดี ไม่หวังร้าย การไม่โกรธผู้อื่น การให้อภัยในความประพฤติไม่ดีของผู้อื่น การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ ตลอดจนถึงการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น นั้น ล้วนเพราะหิริ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทั้งนั้น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะใดก็ตามที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นปราศจากหิริ อย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่หิริเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นั้น ก็ย่อมคุ้มครองให้จิตไม่เป็นอกุศล และในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น มีแต่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย สภาพธรรมที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ธรรมฝ่ายดีค่อยๆ เจริญขึ้นนั้น คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องค่อยๆ สะสมปัญญาไปทีละเล็กละน้อย อดทนที่ฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้ามีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ความไม่รู้ ความติดข้องตลอดจนถึงอกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง การเห็นโทษของอกุศลก็เพิ่มขึ้น ปัญญา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำไปสู่ความดีทุกประการ เป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ