[คำที่ ๓๑๖] สมณ

 
Sudhipong.U
วันที่  14 ก.ย. 2560
หมายเลข  32436
อ่าน  394

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมณ”

คำว่า สมณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สะ - มะ - นะ] แปลว่า ผู้สงบ กล่าวคือ สงบจากอกุศล สมณะ มีความมุ่งหมายถึง ทั้งสมณะ โดยเพศ คือ ผู้สละอาคารบ้านเรือนออกบวช ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์อีกต่อไป อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง มุ่งหมายถึง สมณะ โดยคุณธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความเป็นจริงของ สมณะ ไว้ว่า

“ผู้ไม่มีวัตร (ไม่มีความประพฤติที่ดีงาม) พูดเหลาะแหละ ไม่ชื่อว่าสมณะ เพราะศีรษะโล้น ผู้ประกอบด้วยความอยากและความโลภ จะเป็นสมณะอย่างไรได้ ส่วนผู้ใด ยังบาปน้อยหรือใหญ่ ให้สงบโดยประการทั้งปวง ผู้นั้น เรากล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะยังบาปให้สงบแล้ว”


จิตของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ย่อมไม่สงบเพราะมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นย่อมไม่สงบ เพราะถูกปรุงแต่งด้วยสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี จึงทำให้จิตเป็นอกุศล ไม่สงบ แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบจากอกุศล ตามระดับขั้นของกุศลธรรมในขณะนั้นๆ ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นไปของจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับแนะนำในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีความติดข้องยินดีพอใจรักชอบในอารมณ์ที่ดี และย่อมมีความชัง ความเกลียดหรือความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ และ ยังมากไปด้วยความไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้รับแนะนำในวินัยของพระอริยะ ได้อบรมเจริญปัญญาจนดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนถึงสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านย่อมไม่รักและไม่ชังในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้มีจิตที่สงบอย่างแท้จริง, การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ รู้ตามพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงจะค่อยๆ ละความรักความชังรวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ได้ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้จิตค่อยๆ สงบจากอกุศล

แต่ละคนสะสมมาแตกต่างกัน การอบรมเจริญปัญญา ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าสะสมมาที่จะสละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต เป็นสมณะ ในพระพุทธศาสนา ก็จะมีเพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง สำหรับคำว่า สมณะนั้น มีความหมายว่า ผู้สงบจากกิเลส ก็สามารถพิจารณาได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม (คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต) ถ้าหากอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส จนสามารถดับกิเลสได้ ก็เป็นสมณะ โดยคุณธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึง สมณะ โดยเพศ คือ เป็นเพศที่แตกต่างไปจากคฤหัสถ์ และถ้าผู้นั้น ได้รับประโยชน์จากพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้ เป็นผู้สงบจากกิเลสที่ดับได้แล้ว ก็เป็นสมณะ โดยคุณธรรม ด้วย

สมณะ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจอย่างที่ชีวิตคฤหัสถ์เป็น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นสมณะในพระพุทธศาสนา นั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ ออกบวชเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ เมื่อสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วย เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะกลับมารับสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ และจะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศของตน ไม่ได้ด้วย ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจเป็นสำคัญ จะขาดการศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้เลย

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่ง ที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นสมณะ จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ว่าเป็นโทษโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของสมณะ ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ซึ่งจะต้องมีความสำนึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่ใช่คฤหัสถ์ โดยตลอด มีชีวิตที่อาศัยชาวบ้าน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง จึงจะเป็นผู้ที่เหมาะควรแก่การรับสิ่งที่เหมาะควรแก่สมณเพศ จากคฤหัสถ์ มีอาหาร เป็นต้น อีกทั้งยังจะต้องมีความประพฤติคล้อยตามความประพฤติเป็นไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำรวมตามพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว และที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้เห็นคุณของปัจจัย (เครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไป) ๔ คือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ว่า ไม่ได้บริโภคใช้สอยเพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อการที่จะได้ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเพื่อพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้ในที่สุด ชีวิตแต่ละวัน ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ ต้องขัดเกลากิเลส ตั้งแต่ตื่นจนหลับ นี้คือ ความเป็นสมณะจริงๆ ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบวชเป็นสมณะแล้วแต่เป็นผู้ไม่ดำรงอยู่ในพระธรรมวินัย กล่าวได้เลยว่าเป็นผู้ทรยศต่อพระรัตนตรัย เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะเป็นสมณะในพระธรรมวินัย แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองอย่างที่ได้ปฏิญาณไว้ ได้แต่เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย โทษย่อมเกิดแก่ผู้นั้นโดยส่วนเดียว เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า แต่ละคนควรอบรมเจริญปัญญาในเพศใด แม้ไม่ได้สละอาคารบ้านเรือนบวชอยู่ในสมณเพศ ก็สามารถอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีในเพศคฤหัสถ์ได้ เพราะไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องบวช และแท้ที่จริงแล้ว การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็ยังยาก และสิ่งที่จะเกื้อกูลให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อดทน จริงใจ มั่นคงที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sudhipong.U
วันที่ 6 มี.ค. 2564

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ญาณ

คำว่า ญาณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ยา – นะ] แปลว่า ความเข้าใจถูกเห็นถูก หรือ ปัญญา ว่าโดยสภาพธรรม ก็คือ เป็นเจตสิก (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ฝ่ายดี ประการหนึ่ง คือ ปัญญาเจตสิก นั่นเอง แม้ว่าจะมีหลายพยัญชนะที่กล่าวถึงความเป็นจริงของปัญญา ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรม ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างนี้ ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างอื่น, ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่สำคัญมาก เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดียิ่ง ทำให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น และทำให้อกุศลธรรม ค่อยๆ ถูกขัดเกลา จนกระทั่งสามารถดับได้จนหมดสิ้น

ข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของ ญาณ ไว้ว่า

“ ชื่อว่า ญาณ (ปัญญา,ความเข้าใจถูก, ความเห็นถูก) มีการแทงตลอดสภาวะ (สิ่งที่มีจริง) เป็นลักษณะ หรือ มีการแทงตลอดอย่างไม่ผิดพลาด เป็นลักษณะ เหมือนการยิงลูกศรอันนายขมังธนูผู้ชาญฉลาดยิงไปแล้ว ฉะนั้น มีการส่องซึ่งอารมณ์ เป็นลักษณะ เหมือนดวงประทีปส่องสว่าง ฉะนั้น มีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ) เหมือนพรานป่าบอกทางแก่คนหลงทาง ฉะนั้น” .


ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา แต่ละคนแต่ละท่านเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และสะสมสิ่งที่ไม่ดีมามาก เพราะความเป็นปุถุชนจึงมากไปด้วยอกุศลธรรม ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนาน แม้ในวันนี้วันเดียวอกุศลธรรม ก็เกิดมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อมีความเข้าใจว่า กุศลธรรม มีมาก จึงมีการเห็นโทษของกุศลธรรม มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากุศลธรรม เพื่อละกุศลธรรม เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น เป็นไปกับอกุศลธรรมมากมาย มีโลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ และ โมหะ ความหลง ความไม่รู้ความจริง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล และ ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ถ้าจิตไม่ได้น้อมไปในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ ก็จะเป็นกุศลโดยตลอด

เมื่อกล่าวถึง ญาณ หรือ ปัญญา แล้ว เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างจากอกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง กิจหน้าที่ของปัญญาคือ รู้ถูก เข้าใจถูก ซึ่งมีหลายระดับขั้น กล่าวคือ ปัญญาขั้นการฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะที่เข้าใจ ก็เป็นปัญญา เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ปัญญาที่เข้าใจความจริงในกรรมและผลของกรรม ปัญญาระดับสมถภาวนาที่เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่เป็นสติปัฏฐาน ก็เป็นปัญญาเช่นกัน จนกระทั่งถึงปัญญาในระดับที่เป็นโลกุตตระ สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา เป็นธรรมที่มีจริง

การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ นั้น ต้องอาศัยการอบรมจากการฟัง การศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ โดยที่ไม่มีใครไปบังคับหรือไปทำอะไรได้ ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่เคยเห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม สะสมเหตุที่ดีมาแล้วในอดีตจึงได้ฟัง ได้ศึกษา ได้สะสมปัญญาต่อไป แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้ว แม้จะมีพระธรรมอยู่ หรือ มีผู้ชักชวนให้ฟัง ก็จะไม่ฟัง นี้คือความต่างกันของการสะสมมาของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต ทำให้เริ่มเห็นประโยชน์ของการฟัง และรู้ว่าเหตุที่จะทำให้ปัญญาเกิด ก็คือการฟังพระธรรม ด้วยความตั้งใจ ด้วยความละเอียดรอบคอบ เห็นคุณค่าในแต่ละคำที่เป็นคำจริงซึ่งหาฟังได้ยาก บุคคลผู้ที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง คิดธรรมเอาเองไม่ได้โดยประการทั้งปวง คิดธรรมเอาเองเมื่อไหร่ ผิดเมื่อนั้น และไม่มีตัวตนที่จะไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะให้ปัญญาเกิด แต่ต้องฟัง ต้องศึกษา เท่านั้น สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ให้เวลากับพระธรรม ความรู้ความเข้าใจถูก ก็ย่อมจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อม สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เพราะการที่สัตว์โลกจะถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้นั้น ไม่ใช่ด้วยทรัพย์ หรือด้วยชาติกำเนิด แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น แล้วปัญญาจะมากจากไหน ถ้าไม่เริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตั้งแต่ในขณะนี้ ปัญญาที่ได้สะสมในขณะนี้ จากการฟัง การศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้งไม่สูญหายไปไหน ยังสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะมีกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้น ถ้าได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมต่อไป ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เพราะปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ เป็นที่พึ่งได้ในทุกระดับขั้น จนถึงสูงสุดของกำลังปัญญา ก็สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้น ซึ่งกว่าจะไปถึงการดับกิเลสได้นั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้น คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.

 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ