[คำที่ ๓๑๘] เอกวิหารี

 
Sudhipong.U
วันที่  28 ก.ย. 2560
หมายเลข  32438
อ่าน  478

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เอกวิหารี

คำว่า เอกวิหารี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า เอ – กะ – วิ – หา - รี] มาจากคำว่า เอก (ผู้เดียว) กับคำว่า วิหารี (บุคคลผู้มีปกติอยู่) รวมกันเป็น เอกวิหารี แปลว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงความเป็นไปของบุคคลผู้ไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่อยู่ด้วยเพื่อนสองคือตัณหาความติดข้องยินดีพอใจ นั่นเอง ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมมิคชาลสูตร ว่า

ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้น เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ความเพลิดเพลินย่อมดับ เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ก็ไม่มีความกำหนัด เมื่อไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง ดูกร มิคชาละ ภิกษุไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว (เสียง กลิ่น รส เป็นต้นก็โดยนัยเดียวกัน) ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

--------------------------------------------------------

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนาของพระองค์ นั้น เป็นการแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใดก็ตาม ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา และที่สำคัญ ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน มีธรรมอยู่ตลอดเวลา อยู่กับธรรมตลอดเวลา ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย

สำหรับ ความเป็นผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว นั้น ในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีนัยที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ที่สำคัญ คือ เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรม เพื่อให้เห็นโทษของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจของเราอยู่เกือบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะ ตัณหา หรือโลภะความติดข้องยินดีพอใจซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) นั้น ยังมีเพื่อน ไม่ได้อยู่คนเดียวจริงๆ เพื่อนที่สนิทที่สุด แต่เป็นเพื่อนที่ไม่ดี คือ ตัณหาหรือโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นเหมือนผู้คอยกระซิบอยู่ใกล้ๆ ว่า ให้ติดข้องสิ่งนั้น ให้ติดข้องสิ่งนี้ ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ เป็นต้น ขณะใดที่บุคคลได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว มีความติดข้องพอใจเกิดขึ้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่คนเดียว ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน หรือแม้ว่าจะอยู่ในป่าอันเงียบสงัด ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง เพราะยังมีเพื่อน คือ ตัณหา จึงยังไม่ชื่อว่าอยู่ผู้เดียวเลย เพราะยังเป็นไปกับความติดข้องยินดีพอใจ ในทางตรงกันข้าม บุคคลใด เมื่อได้เห็น ได้ยินในสิ่งต่างๆ แล้ว ไม่ติดข้อง ไม่เกิดโลภะ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ถึงแม้จะอยู่กับคนหมู่มาก ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว เพราะไม่เป็นไปกับกิเลสทั้งหลาย มีตัณหา เป็นต้น นั่นเอง

แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า สำหรับบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส เพราะได้สะสมกิเลสมามากมายนับชาติไม่ถ้วน กิเลสจึงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดมากกว่ากุศลเป็นปกติอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้จะอยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว ก็ยังไม่ชื่อว่ามีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างแท้จริง เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่เป็นผู้ปราศจากกิเลส จนกว่าจะได้มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้นสามารถที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้เดียวอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกิเลสอีกต่อไปนั่นเอง

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ว่าเป็นสิ่งที่มีค่าประเสริฐที่สุดในชีวิต ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะละคลายกิเลส มีโลภะ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น จึงสำคัญที่การอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งจะขาดรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ไม่ควรที่จะล่วงเลยขณะอันมีค่าและหาได้ยากอย่างนี้ไปเสีย และที่สำคัญเวลาของแต่ละบุคคลที่จะอยู่ในโลกนี้ก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด จึงไม่ควรประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ