[คำที่ ๓๒๒] อริยปริเยสนา

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ต.ค. 2560
หมายเลข  32442
อ่าน  453

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อริยปริเยสนา”

คำว่า อริยปริเยสนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อะ - ริ - ยะ - ปะ - ริ - เย - สะ - นา] มาจากคำว่า อริย (ประเสริฐ) กับคำว่า ปริเยสนา (การแสวงหา) รวมกันเป็น อริยปริเยสนา แปลว่า การแสวงหาที่ประเสริฐ หรือ การแสวงหาอย่างประเสริฐ แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดีที่มุ่งที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนถึงความเป็นพระอรหันต์ สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปริเยสนาสูตร ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา การแสวงหาอย่างประเสริฐ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองเป็นผู้มีชรา (ความแก่) เป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพาน อันไม่มีชรา เป็นแดนเกษม (ปลอดโปร่ง) จากโยคะ (กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด) อย่างเยี่ยม ๑ ตนเองเป็นผู้มีพยาธิ (ความเจ็บ) เป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่มีพยาธิ เป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างเยี่ยม ๑ ตนเองเป็นผู้มีมรณะ (ความตาย) เป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีมรณะเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่ตาย เป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างเยี่ยม ๑ ตนเองเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา รู้โทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาแล้ว ย่อมแสวงหานิพพานอันไม่เศร้าหมอง เป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างเยี่ยม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยปริเยสนา ๔ ประการนี้แล


ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และมีจริงในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามไม่พ้นไปจากธรรมเลย มีแต่จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์,ไม่ใช่สภาพรู้) เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ และแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ก่อนที่จะได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และยังจะต้องเกิดเป็นไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะได้อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเกิดอีก เมื่อไม่มีการเกิด ทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาเท่านั้นถึงจะเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ และปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่สะสมจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังพระธรรม

บุคคลผู้ที่ยังมีวิชชา (ความไม่รู้) เป็นเครื่องปกปิดไว้ จึงทำให้มีความติดข้องยินดี พอใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดข้องในทรัพย์สมบัติ ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไปเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการแสวงในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เพราะได้มาแล้วทำให้ติดข้องยินดีพอใจ สะสมอกุศลมากมายต่อไปอีก

ในชาตินี้ ยังเป็นผู้มีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) มาก กุศลจิตเกิดบ่อยมาก และปัญญาก็ยังไม่เจริญ ถ้าหากว่าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีบ่อยๆ เนืองๆ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน แล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา

สภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกเลย เพราะเกิดแล้วดับ ตามความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าสิ่งที่เป็นที่รักที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเหล่านั้นไม่ได้พลัดพรากไป แต่ในที่สุดเราก็จะต้องจากสิ่งที่น่าปรารถนาเหล่านั้นไปเมื่อถึงวาระที่จะต้องละจากโลกนี้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย และไม่สามารถนำเอาอะไรติดตามตัวไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ หรือบุคคลผู้เป็นที่รัก ก็ตาม สิ่งที่ควรแสวงหา จึงไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) แต่สิ่งที่ควรจะแสวงหาเป็นอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่จะทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายความติดข้องต้องการได้ เพราะความติดข้องต้องการนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนมากมาย เมื่อมีปัญญาที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะสามารถละคลายความติดข้องต้องการและสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ ในเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ เพราะเป็นหนทางที่ดับกิเลสและหมดสิ้นสังสารวัฏฏ์ได้ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงว่า เนื่องจากยังมากไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยังเป็นผู้แสวงหาและยินดีในการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอยู่ ตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็ยังมีการแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐด้วย ด้วยความเข้าใจความจริงทีละเล็กละน้อยจากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในภพนี้ชาตินี้ ก็แสดงว่าต้องเป็นผู้เคยได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ฟังพระธรรม เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงสนใจที่จะฟัง ที่จะได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ และกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ชีวิตก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้ว่าจะเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมบ้างในวันหนึ่งๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาสที่มี เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีประโยชน์ เป็นประโยชน์แล้วที่ได้ยินได้ฟังในแต่ละครั้งและมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งถ้าไม่เคยสะสมเหตุที่ดีมาเลย ก็คงจะไม่ฟังอย่างแน่นอน แต่ที่ฟังก็เพราะเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ที่สำคัญ คือ ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นใดทั้งสิ้น จะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบได้ สิ่งที่สะสมอยู่ในจิต คือ ความเข้าใจ ก็จะติดตามไปด้วย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว นี้คือ การแสวงหาที่ประเสริฐ ที่เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นได้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ