[คำที่ ๓๒๓] เถยฺยปริโภค

 
Sudhipong.U
วันที่  2 พ.ย. 2560
หมายเลข  32443
อ่าน  296

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เถยฺยปริโภค”

คำว่า เถยฺยปริโภค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ไถ - ย - ปะ - ริ - โพ - คะ] มาจากคำว่า เถยฺย (ขโมย,โจร,ลัก) กับคำว่า ปริโภค (บริโภค,ใช้สอย) รวมกันเป็น เถยฺยปริโภค แปลว่า การบริโภคใช้สอยอย่างขโมย อย่างโจร เขียนเป็นไทยได้ว่า เถยยบริโภค หรือ ไถยบริโภค เป็นการบริโภคหรือใช้สอยสิ่งของที่คฤหัสถ์ถวายด้วยศรัทธามุ่งตรงต่อภิกษุผู้มีศีล มีธรรมอันงาม แต่ภิกษุผู้รับผู้นั้น เป็นผู้ไม่มีศีล มีธรรมอันต่ำทราม ก็เป็นเหมือนกับการลักขโมยของของผู้ที่มีศีล มาเป็นของของตน เพราะตนเองไม่มีคุณธรรมอย่างนั้นเลย เป็นโทษอย่างเดียว ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อังคุลิมาลสูตร แสดงความเป็นจริงของเถยยบริโภค ไว้ดังนี้ คือ

“การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีล (ไม่มีศีล) ชื่อว่า เถยยบริโภค. ก็ภิกษุผู้ทุศีลนั้น ขโมยปัจจัย (เครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นไป) ๔ (ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) แล้วบริโภค. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบริโภคก้อนข้าวของชาวเมือง ด้วยความเป็นขโมย ดังนี้”


พระภิกษุ เป็นเพศบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ย่อมเป็นผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ซึ่งเต็มไปด้วยทุกข์ เห็นโทษเห็นภัยของการอยู่ครองเรือนว่าเป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลประการต่างๆ มากมาย ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมอันเนื่องมาจากได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงสละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เมื่อบวชแล้ว ก็มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย น้อมประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

พระภิกษุทุกรูป ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนถึงสมัยนี้ ต้องศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้

ความเป็นบรรพชิต รักษายากอย่างยิ่ง ต้องเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปจริงๆ ถึงจะรักษาได้ ทำให้ตนเองดำรงมั่นในพระธรรมวินัย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย รักษาความเป็นบรรพชิตไม่ได้ หรือ รักษาไม่ดี ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ย่อมเป็นผู้ต้องอาบัติ มีโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น

พระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทต่างๆ นั้น มีมาก การต้องอาบัติแต่ละข้อ ก็มีโทษทั้งนั้น มีทั้งหนักและเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า พระวินัยบัญญัติ ทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ทำให้มีการงดเว้นในสิ่งที่เป็นโทษไม่เหมาะไม่ควร และ น้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิด้วย ถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำคืน กล่าวคือ ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพลงในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชาติถัดจากชาตินี้ไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ หรือ จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็แสดงถึงความเป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ทรงบัญญัติพระวินัยด้วยพระองค์เองที่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะบัญญัติได้ การที่ภิกษุบวชแล้วเป็นผู้ประพฤติไม่ดี เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีธรรมอันงาม การบริโภคปัจจัยที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา ก็เป็นประดุจการบริโภคอย่างโจร อย่างขโมย เพราะตนเองไม่มีคุณธรรมที่เหมาะควรจะได้รับสิ่งของเหล่านั้น เหมือนกับการขโมยเอาของของผู้มีศีล มาเป็นของของตน

มีพยัญชนะมากมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ถึงความเป็นไปของภิกษุผู้มีความประพฤติไม่เหมาะไม่ควรต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้สำนึกว่าตนเองมีความประพฤติที่เหมาะควรที่จะดำรงอยู่ในเพศที่สูงยิ่งได้หรือไม่ ดังนี้ คือ

อลัชชี ผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเคารพในพระรัตนตรัย ล่วงละเมิดสิกขาบทเป็นนิตย์ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่สำนึก ไม่แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

มหาโจร ถ้าเป็นคนธรรมดา ปล้นเขา ชิงเขา เอาของเขามา ใครๆ ก็เห็นพฤติกรรมอย่างนั้น ว่า เป็นโจร แต่นี่เป็นผู้ที่รับสิ่งของซึ่งเขาให้กับผู้ที่สมควรคือ ผู้ที่มีชีวิตที่ศึกษาพระธรรมวินัยขัดเกลากิเลส แต่ตนเองไม่มีความประพฤติอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับมหาโจรในคราบของภิกษุ เพราะถือเอาของที่เขาให้คนอื่นคือผู้ที่มีคุณความดีอย่างนั้นมาเป็นของตน ซึ่งตนเองไม่มีคุณความดีอย่างนั้นเลย

ภิกษุผู้ทุศีล ไม่มีศีล เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย ล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ จนถึงล่วงละเมิดสิกขาบทที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ

ผู้มีธรรมอันลามก มีความประพฤติไม่เหมาะไม่ควรมากมาย เป็นไปกับอกุศลธรรม มีความติดข้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมอันลามก คือ ต่ำทราม ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นบรรพชิตอย่างสิ้นเชิง

ผู้มีความประพฤติสกปรก เพราะมีความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล หมักหมมสะสมสิ่งที่สกปรกลงในจิตของตนเอง

ผู้น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เพราะเป็นประดุจน้ำเหลืองที่ชุ่มอยู่ในซากศพ

ผู้มีกรรมอันปกปิด เพราะทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่อยากให้ใครรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควรของตนเอง

มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ คือ ไม่ใช่บุคคลผู้ประพฤติสงบระงับจากกิเลสเลย แต่ก็ยังอยู่ในเพศบรรพชิต หลอกลวงบุคคลอื่นให้รู้ว่าตนเองเป็นสมณะ

มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ คือ ไม่ได้เป็นผู้ประพฤติประเสริฐ ไม่ได้คล้อยตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ก็ยังหลอกลวงคนอื่นว่าตนเองเป็นผู้ประพฤติประเสริฐ ท่านเรียกว่า เป็นพรหมจารีปลอม

ผู้เน่าใน เพราะมากไปด้วยอกุศลธรรม ทำให้จิตใจเน่า สะสมแต่สิ่งที่สกปรกคืออกุศลธรรมทั้งหลาย

ผู้มีความกำหนัดกล้า เต็มไปด้วยความติดข้อง ความอยาก ความต้องการ จึงทำให้มีความประพฤติล่วงสิกขาบทมากมายตามกำลังของโลภะ

ผู้เป็นดังหยากเยื่อ ภิกษุผู้ประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นดุจหยากเยื่อ เพราะสกปรก เป็นสิ่งที่จะต้องทิ้ง ไม่ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้

เศรษฐีหัวโล้น สะสมในสิ่งต่างๆ ที่ผิดพระวินัย จะเห็นได้ว่าแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไม่ทรงเก็บข้าวแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อเสวยในวันต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีความจริงใจที่จะประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว จะมามีความประพฤติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรได้อย่างไร

ภิกษุเพียงดังข้าวลีบ เป็นภิกษุผู้ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความดีใดๆ เลย ไม่น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเอง แต่ยังปรากฏภายนอกต่อผู้อื่นว่าเป็นภิกษุ ด้วยการปลงผม การครองจีวร มีบาตร เป็นต้น เปรียบเหมือนกับ ข้าวลีบ ข้างในไม่มีเมล็ดข้าวสาร แต่ก็ยังปรากฏว่าเหมือนมีเมล็ดข้าวสาร ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีเมล็ดข้าวสารเลย

ทุกพยัญชนะล้วนเป็นเครื่องเตือนที่ดี เป็นคำเกื้อกูล เป็นคำอนุเคราะห์อย่างแท้จริง เพราะถ้าหากว่า พระภิกษุยังมีความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร ล่วงละเมิดสิกขาบทไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับว่ากำลังสร้างเหตุที่จะทำให้ตนเองจมลงในอบายภูมิโดยส่วนเดียว แต่ถ้าหากมีความสำนึกได้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว แก้ไข น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น หรือ ถ้าหากว่า เห็นว่าตนเองไม่เหมาะควรที่ดำรงอยู่ในเพศที่สูงยิ่ง ก็สามารถลาสิกขาบท มาเป็นคฤหัสถ์ ก็จะไม่มีอาบัติติดตัว สามารถเป็นคฤหัสถ์ที่ดี พร้อมทั้งฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจได้ ทั้งหมดของคำจริง มุ่งประโยชน์เท่านั้น แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้เบียดเบียนใครเลยแม้แต่น้อย มีแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งควรค่าแก่การฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ