[คำที่ ๓๒๗] ธมฺมเทสนามย

 
Sudhipong.U
วันที่  30 พ.ย. 2560
หมายเลข  32447
อ่าน  268

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมเทสนามย

คำว่า ธมฺมเทสนามย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - เท - สะ - นา - มะ - ยะ] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) เทสนา (การแสดง,การเปิดเผย) กับคำว่า มย (สำเร็จ) รวมกันเป็น ธมฺมเทสนามย เขียนเป็นไทยได้ว่า ธรรมเทสนามัย แปลว่า บุญหรือความดีที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรมแสดงถึงสภาพจิตที่ดีงาม ที่มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่นให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นบุญอย่างหนึ่ง คือ บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร แสดงความเป็นจริงของความดีที่เป็นไปในการแสดงธรรม ไว้ดังนี้ คือ

“แสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยอัธยาศัยที่เต็มไปด้วยความเกื้อกูล นี้ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ) สำเร็จด้วยการแสดงธรรม”

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของความดีที่เป็นไปในการแสดงธรรม ไว้ดังนี้ คือ

“ภิกษุรูปหนึ่ง ไม่หวังผลตอบแทน แสดงธรรมที่ตนชำนาญแก่ชนเหล่าอื่น โดยอุบาย (แนวทาง) ที่จะให้บรรลุวิมุตติ (ความหลุดพ้น) การแสดงนี้ ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม”


การที่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะรุ่งเรืองสืบต่อไป ก็ต่อเมื่อมีผู้ศึกษามีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงแล้วแสดง เปิดเผย เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการแสดงสิ่งที่มีจริง ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้นแล้ว การแสดงธรรมก็คือแสดง เปิดเผยให้คนได้เข้าใจธรรม เพราะสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรม แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงต้องมีผู้แสดงธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ว่า นั่นเป็นธรรม บุคคลผู้กล่าวเช่นนั้น เป็นผู้แสดงธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่พูดความจริงในสิ่งที่กำลังมี ให้บุคคลอื่นได้เข้าใจอย่างถูกต้อง

เมื่อมีบุคคลผู้แสดงธรรม จึงเป็นเหตุให้บุคคลผู้สะสมมาดี มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นวาจาสัจจะ แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แล้ว มีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นพระคุณของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงสภาพธรรมพร้อมด้วยเหตุและผลอย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถพ้นไปจากความเห็นผิด และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ได้ โดยเฉพาะเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว และต่อไปถึงอนาคตกาลในภายหน้าอีก ถ้าบุคคลใดไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ แต่คิดเอาเองว่าเข้าใจธรรมแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ประมาทอย่างแท้จริง ประมาทในพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนได้ แต่ว่าถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่เสมอ บ่อยๆ เนือง ๆ ด้วยความเคารพ ละเอียดรอบคอบ ก็ย่อมมีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงยิ่งขึ้น จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ก็ค่อยๆ เข้าใจถูกเห็นถูกขึ้น และถ้าได้ศึกษาต่อไป สะสมความเข้าใจยิ่งขึ้น กุศลประการอื่นก็จะเพิ่มพูนขึ้นได้ในชีวิตประจำวันคล้อยตามความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า พระธรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะปัญญารู้ว่าแต่ก่อนนี้อาจจะเคยเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะทำดีเลย แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เข้าใจว่า ถ้าไม่ทำดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง ย่อมเป็นกุศล เช่นรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งไม่ดี และรู้ว่าความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ความไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ความเป็นผู้ตรง ความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีพระคุณ เป็นต้นเหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ เป็นกุศล เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพธรรม ว่า สภาพธรรมใดดี สภาพธรรมใดชั่ว และเป็นความจริงที่ว่าคนที่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้มากกว่าคนที่ไม่รู้ และคนที่รู้อย่างนี้ก็จะไม่คอยเวลาที่จะเจริญกุศลด้วย เนื่องจากสามารถจะเจริญกุศลได้ทุกเวลาทุกโอกาส และ ปัญญา สามารถรู้ถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา เพราะมีแต่สภาพธรรมเท่านั้น

การที่จะมีความเข้าใจพระธรรม เข้าใจความจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น เหตุปัจจัยสำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ซึ่งจะต้องได้ฟังจากผู้มีปัญญาที่แสดงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั่นเอง การฟังพระธรรม ซึ่งก็จะต้องเป็นการฟังด้วยดี ตั้งใจฟัง เพื่อความเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ก็จะเป็นเหตุให้ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก เจริญขึ้นไปตามลำดับ เป็นการได้ฟังได้ศึกษาในสิ่งที่มีค่าที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ