[คำที่ ๓๓o] อทฺธุว
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อทฺธุว”
คำว่า อทฺธุว เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อัด - ทุ - วะ] มาจากคำว่า น (ไม่) แปลง น เป็น อ กับคำว่า ธุว (ยั่งยืน) ซ้อน ทฺ รวมกันเป็น อทฺธุว แปลว่า ไม่ยั่งยืน แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน หรือแม้แต่ชีวิต ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม นั่นเอง ชีวิตของแต่ละบุคคล ก็ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นจิตแต่ละขณะ แม้จะกล่าวว่า ชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็สั้นแสนสั้น ไม่นานเลย ต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ความตายจะต้องมีกับทุกคนอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าจะเป็นวันใด เมื่อใด
ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิต เพื่อความไม่ประมาท ดังนี้ คือ
“ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ล้วนเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เป็นเครื่องเตือนที่ดีในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูก มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จนกระทั่งสูงสุด เพื่อความเป็นผู้หมดจดจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น
เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงจนหมดสิ้น การเวียนว่ายตายเกิด ย่อมมีอยู่ตราบนั้น ไม่เป็นสุคติภูมิ ก็เป็นทุคติภูมิ ตามกรรมของแต่ละบุคคล กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามสมควรแก่กรรมของแต่ละบุคคลที่ได้กระทำมา
การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ไม่ยั่งยืนเลย ความเกิดยังเป็นไปตราบใด ความตาย ก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น แม้จะเกิดเป็นเทวดามีความสุข สะดวกสบายทุกอย่าง แต่ถึงอย่างไร ในที่สุดก็จะต้องเคลื่อนจากความเป็นเทวดา แม้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ก็ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น เกิดแล้วก็ต้องจะจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ยังต้องเดินทางต่อไปในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดอยู่ร่ำไป ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น
ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ชีวิตเป็นจิตแต่ละขณะๆ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ ดำเนินไปอย่างนี้ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง และเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสะสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล ความดีประการต่างๆ รวมถึงการอบรมเจริญปัญญาซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด แล้ว สังสารวัฏฏ์ก็ไม่มีวันจบสิ้น การเดินทางไกลกล่าวคือ สังสารวัฏฏ์ ก็ยังมีอีกต่อไป ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ สะสม อบรมเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มจากการฟัง การศึกษา ไปตามลำดับ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงามยิ่งขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามระดับขั้นของปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ในที่สุด เพราะเหตุว่า ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล เท่านั้น ไม่มีทางที่ปัญญาจะนำพาไปในทางที่ผิด
จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ชีวิต ไม่ยั่งยืน จะอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน แต่ละชีวิตก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่จะจากไปแบบไหน แบบที่ไม่รู้เหมือนเดิม ไม่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตายแล้วเกิดอีก ก็ไม่รู้อีก หรือว่า มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นที่พึ่งต่อไป.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ