[คำที่ ๓๓๔] สุปุพฺพณฺห

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ม.ค. 2561
หมายเลข  32454
อ่าน  310

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สุปุพฺพณฺห”

คำว่า สุปุพฺพณฺห เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงในภาษาบาลีว่า สุ – ปุบ - พัน – หะ] มาจากคำว่า สุ (ดี, งาม) กับคำว่า ปุพฺพณฺห (เวลาเช้า, ช่วงเริ่มต้นของวันใหม่) รวมกันเป็น สุปุพฺพณฺห แปลว่า เวลาเช้าที่ดี, ช่วงเริ่มต้นของวันใหม่ที่ดี เป็นการแสดงถึงความจริง เพื่อให้เข้าใจว่า ไม่ว่าความดีจะเกิดขึ้น ในขณะใด เวลาใด ขณะนั้น เวลานั้น ก็เป็นเวลาที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความดีเกิดขึ้น ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาเช้าที่ดี ในเวลาอื่นๆ ขณะอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สุปุพพัณหสูตร ดังนี้ คือ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น, สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลทุกคำ เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมอย่างแท้จริง แสดงถึงความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม เป็นคำที่ควรฟัง ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องของช่วงเวลาที่ดี นั้น ก็แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยมุ่งหมายถึงขณะที่เป็นกุศล ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีแล้วสำหรับบุคคลนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเห็นของชาวโลกผู้ไม่รู้ ย่อมต่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ เพราะว่า คนส่วนใหญ่หาเวลาดี สำหรับที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ผู้ทรงตรัสรู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า การกระทำ ดี เมื่อไหร่ ก็เป็นเวลาดีเมื่อนั้น

ตามความเป็นจริง ชีวิตของคนเรา มีอยู่ ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นการได้รับผลของกรรม เช่น ขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รวมไปถึงขณะที่หลับสนิท ด้วย ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัย วิบากจิตซึ่งเป็นการได้รับผลของกรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง และ อีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนของการสะสมเหตุ คือ เป็นกุศล กับ อกุศล นี้ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคล ไม่มีใครกำหนด ไม่มีใครบังคับ แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสะสมอกุศลมามาก ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้นเป็นไปในทางที่เป็นอกุศล มาก ถ้าได้สะสมกุศลธรรม มามาก ก็เป็นเหตุให้จิตน้อมไปในทางที่เป็นกุศล ได้มาก ซึ่งก็พอจะสังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่าแต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ทั้งการกระทำ คำพูด รวมถึงความคิด ล้วนเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม นั่นเอง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่ละคนก็เคยเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เป็นมาแล้วทุกอย่าง และในชาตินี้ก็เป็นอีกชาติหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม วันเวลาที่ผ่านไป ที่หมายรู้กันว่า เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี นั้น ไม่มีส่วนทำให้บุคคลนั้นเป็นคนดี เป็นคนไม่ดี หรือได้รับสิ่งที่ดี และ ไม่ดี ได้ เพราะการที่จะเป็นคนดีหรือไม่ดี อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่สภาพจิต เป็นสำคัญ ว่าสะสมอะไรมาบ้าง ถ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ดี ประพฤติทุจริตประการต่างๆ ก็เป็นคนไม่ดีด้วยอกุศลธรรม เป็นเรื่องของการสะสมของผู้นั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องวันเดือนปีเลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม คิดดี พูดดี และกระทำสิ่งที่ดี ๆ ก็เป็นคนดีด้วยกุศลธรรม โดยที่ไม่เกี่ยวกับวันเดือนปี อีกเหมือนกัน ส่วนการจะได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ นั้น เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต และ ถ้าหากได้รับสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ นั่น ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต ซึ่งไม่เกี่ยวกับวันเดือนปี เลย

บุคคลผู้ที่เป็นชาวพุทธที่แท้จริง ต้องมีความมั่นคงในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรม มั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม ควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นประโยชน์สูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม สะสมความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม เมื่อมีความเข้าใจธรรม มากขึ้นกุศลธรรม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นคล้อยตามความเข้าใจที่มีมากขึ้น

มีชีวิตอยู่ก็เพื่อสะสมความดี และ อบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาดี ยามดี สำหรับชีวิต เพราะเหตุว่า ช่วงเวลาดี ยามดี นั้น ก็คือ ขณะที่จิต เป็นกุศลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุศลที่เป็นไปพร้อมกับปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้เวลากับสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ