[คำที่ ๓๓๗] ปรมตฺถ

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ก.พ. 2561
หมายเลข  32457
อ่าน  312

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปรมตฺถ”

คำว่า ปรมตฺถ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงในภาษาบาลีว่า ปะ - ระ - มัด - ถะ] มาจากคำว่า ปรม (อย่างยิ่ง, อย่างสูงสุด) กับคำว่า อตฺถ (ประโยชน์) รวมกันเป็น ปรมตฺถ แปลว่า ประโยชน์อย่างยิ่ง, ประโยชน์อย่างสูงสุด หรือ ปรมัตถประโยชน์ มุ่งหมายถึงการอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสตามลำดับขั้น จนถึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตโดยประการทั้งปวง ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา สุราธเถรคาถา ว่า

“ประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือ พระนิพพาน และ ประโยชน์ของตน กล่าวคือพระอรหัตต์ (ความเป็นพระอรหันต์) อันเป็นธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งสังโยชน์ (อกุศลธรรมที่ผูกมัดหมู่สัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์) ทั้งหลาย”


ถ้าหากจะมีคำถามให้ได้คิดพิจารณา ว่า ประโยชน์ที่เกิดมาในแต่ละชาติ คืออะไร? แต่ละคนก็อาจจะตอบกันไปคนละอย่าง เป็นแต่ละหนึ่ง ตามการสะสม แต่สำหรับผู้ที่ได้ยินคำว่า “พระพุทธศาสนา” และได้สะสมความเห็นถูกที่เห็นประโยชน์สูงสุดในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ได้อย่างยากแสนยาก ย่อมพิจารณาเห็นว่าทุกคนมาเกิดแล้วต้องตาย แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะเป็นเมื่อใด สิ่งที่คิดว่าได้มาแล้วทั้งหมดทุกวัน แม้แต่เมื่อวานนี้ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ความสุขเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน เรื่องสนุก อาหารอร่อย หรือ ลาภ ยศ สรรเสริญก็ตาม จะติดตามไปถึงโลกหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วในหนึ่งชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้อะไร? ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่รู้คุณค่าเลยว่า สิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ปัญญา (ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก)

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นที่น่าพิจารณาว่า เราเกิดมาก็ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เพิ่มขึ้น อย่างประโยชน์ในโลกนี้คืออะไร เพราะว่าถ้าก้าวไปสู่ปรมัตถประโยชน์เลย เราก็จะข้ามประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า สิ่งที่มีประโยชน์หรือเป็นประโยชน์ต้องเป็นกุศล สิ่งที่เป็นอกุศลจะเป็นประโยชน์ไม่ได้ ใครคิดว่าอกุศลเป็นประโยชน์หรือทำอกุศลแล้วเป็นประโยชน์ นั่นคือ เป็นผู้ที่มีความเข้าใจผิด มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่ว่าประโยชน์จริงๆ ต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าด้วย เพราะเหตุว่าจะต้องนำมาซึ่งผลของกุศลนั้นๆ แต่ยังไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด ถ้าเป็นประโยชน์สูงสุด คือ ปรมัตถประโยชน์ ต้องเป็นประโยชน์ที่เข้าใจถูกเห็นถูกซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์จริงๆ ที่ไม่ติดข้องในสิ่งที่เราติดข้องมาแล้วทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) คนที่ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์มีความติดข้องไหม? อยากได้ในสิ่งที่จะทำให้เราสบายเป็นประโยชน์กับตัวเรา แต่ลืมไปว่าได้มาแล้วมีความติดข้องในสิ่งนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่เพียงให้เป็นประโยชน์ต่อการที่จะมีชีวิตอยู่ ในแต่ละภพในแต่ละชาติ เพราะว่า เมื่อเกิดมาแล้วเราต้องมีการดำรงชีวิต สิ่งที่ให้ประโยชน์กับร่างกายที่จะให้ดำรงอยู่ก็มี แต่ถ้าในขณะใดที่ไม่รู้เรื่องของกุศลและอกุศลเลย บางคนก็อาจจะกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะนำมาซึ่งสิ่งที่น่าพอใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ ซึ่งอาจจะเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นได้ แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ก็คือ ขณะที่เป็นกุศล เพราะว่า ที่ใครจะได้อะไร ที่น่าพอใจในโลกนี้ อะไรนำมาให้ ต้องมาจากกุศลเท่านั้น ไม่ได้มาจากอกุศลเลย จึงต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เราได้รับในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างไม่เดือดร้อน เป็นต้น แท้ที่จริงก็เป็นผลของกุศลทั้งสิ้น เหตุกับผลต้องตรงกัน แต่ว่าเมื่อได้แล้วหรือยังไม่ได้ก็ตาม เรามีความติดข้องในสิ่งนั้น ซึ่งเป็นอกุศล ขณะที่เป็นอกุศล จะเป็นประโยชน์ไม่ได้ กุศลเท่านั้นที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า แต่ว่าถ้าเป็นกุศลเพียงขั้นทาน ขั้นศีล ไม่ใช่ขั้นของการอบรมเจริญปัญญาให้มีความเข้าใจถูกจนกระทั่งสามารถที่จะละความติดข้องได้ นั่นก็ยังไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด

เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นปรมัตถประโยชน์ นั้น ต้องเป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดปัญญา สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง สามารถที่จะดับอกุศลได้ เพราะปรมัตถประโยชน์ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นสูงสุดจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งกว่าจะไปถึงปรมัตถประโยชน์ได้นั้น ต้องไม่ละเลยโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นการฟัง เป็นการศึกษาสิ่งที่มีค่าที่สุด มีประโยชน์ที่สุดสำหรับชีวิต จึงควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ว่า ชีวิตแสนสั้น แล้วทุกคนจะทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับชีวิต

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นเหตุทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาไม่ได้นำทุกข์โทษภัยใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น คุณความดีประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นคล้อยตามปัญญา เพราะหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นหนทางที่จะทำให้ถึงการดับอกุศลได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ