[คำที่ ๓๔o] อกุสลชาติ

 
Sudhipong.U
วันที่  1 มี.ค. 2561
หมายเลข  32460
อ่าน  277

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกุสลชาติ

คำว่า อกุสลชาติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อะ– กุ –สะ- ละ – ชา ติ] มาจากคำว่า อกุสล (ไม่ดี, อกุศล, สิ่งที่นำมาซึ่งผลที่เป็นทุกข์) กับคำว่า ชาติ (ความเกิดขึ้น) รวมกันเป็น อกุสลชาติ แปลว่า ความเกิดขึ้นเป็นอกุศล, ความเกิดขึ้นของอกุศล หรือ แปลทับศัพท์เป็น อกุศลชาติ เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิตและเจตสิกธรรม ที่เกิดร่วมด้วย จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล เรียกว่า อกุศลชาติ ที่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ มี อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น จึงทำให้จิตเป็นอกุศล เมื่อมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ตามข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ ว่า

“บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีชีวิตอยู่ที่ไม่สมควร อันใด คือ ย่อมไม่ปฏิบัติเหลียวแลเลี้ยงดูมารดาหรือบิดาผู้ป่วยไข้ ย่อมทำการทะเลาะกับบิดามารดาเพราะทรัพย์สมบัติ ย่อมทะเลาะกับพี่ชายน้องชายพี่สาวน้องสาวเพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติของมารดาบิดา ย่อมกล่าววาจาหมดยางอาย (หน้าด้าน) , ย่อมไม่ทำวัตรที่ควรทำต่ออาจารย์ ต่ออุปัชฌาย์ ไม่อุปัฏฐากภิกษุผู้อาพาธ ย่อมถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ย่อมถ่มน้ำลาย สั่งน้ำมูก ลงในสถานที่เป็นที่เคารพแห่งพระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมกั้นร่ม ย่อมเดินใส่รองเท้าเข้าไป ย่อมไม่ละอายในพระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เคารพยำเกรงในสงฆ์ ย่อมไม่ยังหิริโอตตัปปะให้ตั้งขึ้นในที่อันควรเคารพในบุคคลทั้งหลายมีมารดาและบิดาเป็นต้น การทำอย่างนี้แม้ทั้งปวง ในวัตถุทั้งหลายและในบุคคลมีมารดาเป็นต้น ของบุคคลผู้ประพฤติอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่า ความประพฤติไม่สมควร”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แต่ละคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของอกุศลธรรม ทั้งหลาย นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้มากอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ

ถ้าอกุศลธรรมเกิดขึ้น เช่น ถ้าโลภะเกิดหรือถ้าโทสะเกิด แล้วจะให้กายวาจาเป็นไปในทางที่เป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ นั้น ก็เพราะว่า ไม่ได้คล้อยตามคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นคล้อยไปตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงชาติ คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต ว่า มี ๔ ชาติ คือ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล (อกุศลชาติ) จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล (กุศลชาติ) จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก (วิบากชาติ) จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา (กิริยาชาติ) จิตจะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่เกิดทีละขณะ และมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ขณะที่จิตเป็นอกุศล ก็มีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ เช่น อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย จะไม่มีเจตสิกฝ่ายดี เกิดร่วมด้วยเลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นกุศล ก็มีเจตสิกฝ่ายดีประการต่าง ๆ มีศรัทธา (สภาพที่ผ่องใส) สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในคุณความดี) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคืองใจ) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย จะไม่มีเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วยได้เลย นี้คือความเป็นจริง และทั้งหมด คือ ชีวิตประจำวัน

 

ควรที่จะได้พิจารณาว่า เรื่องของกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ มีมากมาย เกิดขึ้นบ่อยมากและรวดเร็ว ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อเทียบส่วนกันกับกุศลธรรมในแต่ละวันแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย เพราะกุศลธรรมมีมากกว่ากุศลธรรมอย่างเห็นได้ชัด เรื่องของกุศลธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การสะสมทางฝ่ายกุศลธรรมนั้น เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มีกุศลจิตที่วิจิตรมาก ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ต่างกันออกไปในวันหนึ่งๆ ที่มีเป็นอย่างมากทีเดียว

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดนั้น เป็นเครื่องเตือนและชี้ให้เห็นกุศล ธรรมตามความเป็นจริง ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม นั้น ก็คือ อกุศลจิต และ สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิต ซึ่งขณะที่จิตเป็นกุศลจะมีการกระทำทางกายและวาจาอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต่างกับขณะที่จิตเป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง ถ้าพุทธบริษัทไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด และไม่เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ ก็อาจจะคิดว่า ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าดูเหมือนรู้แล้วว่า กุศลธรรมมีเท่าไร และกุศลธรรมมีอะไรบ้าง แต่เวลาที่กุศลธรรมเกิดขึ้นจริงๆ รู้บ้างหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าจะพิจารณาตัวเอง บางคนอาจจะเริ่มพิจารณาแล้วคิดว่า เริ่มรู้จักตัวเองขึ้นบ้างแล้ว ถึงแม้จะยังไม่ละเอียด ยังไม่ถี่ถ้วน ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าการที่ไม่ได้พิจารณาเลย ขณะใดที่สติเกิดระลึกได้ ขณะนั้นก็จะเป็นการเริ่มศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และเพื่อขัดเกลาอกุศลธรรมที่เกิดกับจิตของตนเองให้เบาบางลงจนกว่าจะสามารถดับได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด รากฐานที่สำคัญ มั่นคง คือ เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ