[คำที่ ๓๔๓] ทิฏฺฐิโยค

 
Sudhipong.U
วันที่  22 มี.ค. 2561
หมายเลข  32463
อ่าน  237

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทิฏฺฐิโยค”

คำว่า ทิฏฐิโยค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ทิด - ถิ – โย - คะ] มาจากคำว่า ทิฏฐิ (ในที่นี้มุ่งหมายถึงความเห็นที่เป็นความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) กับคำว่า โยค (กิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ไม่ให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด) รวมกันเป็น ทิฏฺฐิโยค เขียนเป็นไทยได้ว่า ทิฏฐิโยคะ แปลว่า กิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะคือความเห็นผิด ความเห็นผิด เมื่อเกิดขึ้น ก็ประกอบสัตว์ไว้กับความเห็นผิดประการนั้นๆ ไม่ให้เป็นกุศล ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมที่มีโทษมากอย่างยิ่ง เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างผิดหมด กาย วาจา ใจ ผิด เป็นไปตามความเห็นที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และ ยิ่งเป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เข้าใจธรรมผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เผยแพร่ในสิ่งผิดๆ ยิ่งมีโทษมาก เพราะไม่มีอันตรายใดที่จะเสมอเท่ากับการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะปิดกั้นคนที่สมควรที่จะได้เข้าใจถูกถ้าไตร่ตรอง กลับทำให้เขาเข้าใจผิด

ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยคสูตร แสดงความเป็นจริงของทิฏฐิโยคะไว้ว่า

กิเลสชื่อว่า โยคะ เพราะผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ. ชื่อว่า ทิฏฐิโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในทิฏฐิ (ความเห็นผิด) .


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด เพื่อความเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ความเห็นผิด และกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ถ้าหากไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นได้เลย แม้แต่ที่กล่าวถึง โยคะ โดยนัยที่เป็นกิเลสอกุศลธรรมที่ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏ์ ก็คือสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภะ ความติดข้องต้องการ ก็เป็นโยคะ ความเห็นผิด ก็เป็นโยคะ และ ความไม่รู้ความจริง ก็เป็นโยคะ เพราะ โยคะ หมายถึง กิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ตราบใดที่สัตว์โลกยังมีโยคะอยู่ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากวัฏฏะได้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะเหตุว่า ถูกโยคะประกอบไว้ หรือตรึงไว้ไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏะ นั่นเอง หรือจะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ คือ ถูกโยคะตรึงไว้ ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรม ตรึงไว้ไม่ให้กุศลจิตเกิด เพราะในขณะที่ถูกโยคะ ประกอบไว้ หรือตรึงไว้ จิตเป็นอกุศล เมื่ออกุศลจิตเกิด กุศลก็เกิดไม่ได้

กิเลสอกุศลธรรมที่มีโทษมากอย่างยิ่ง ไม่มีโทษใดยิ่งกว่า คือ ความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฏฐิ

เป็นที่น่าพิจารณา ว่า ความเห็น เป็นต้นเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่ทุคติ หรือ สุคติ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเรื่องของการที่จะเกิดในภพต่อไป เป็นเรื่องที่สำคัญ

เป็นเรื่องจริง ไม่พึงคิดว่าไม่จริง หรือ อย่าคิดว่าไม่มีวันจะไปสู่อบายภูมิ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะพ้นจากอบายภูมิได้นั้น คือผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังมีโอกาสที่จะไปสู่อบายภูมิได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรกลัวจริงๆ ถ้าไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีโอกาสที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่มีโอกาสได้อบรมเจริญปัญญาด้วย

ภพนี้เป็นมนุษย์ภูมิ (ไม่ใช่อบายภูมิ) ก็จะมีการพอกพูนของความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามที่แต่ละบุคคลได้ประสบอยู่ แต่ถ้าเป็นบายภูมิแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้เลย เพราะอบายภูมิเป็นภูมิแห่งการทรมาน สัตว์โลกที่ไปเกิดในอบายภูมิ เป็นผลของกุศลกรรม ไม่มีใครทำให้เลย เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ดี ผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เรื่องของความเห็นถูก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ามีความเห็นถูก กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ถูกด้วย ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่สุคติ คือ มนุษย์ภูมิและสวรรค์ และ ปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นจากการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เจริญขึ้นไปตามลำดับ เมื่อถึงความสมบูรณ์พร้อมก็สามารถทำให้ประจักษ์แจ้งความจริง ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิด แล้ว กาย วาจา และ ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ผลที่จะเกิดขึ้น คือ เป็นเหตุให้เข้าถึงอบายภูมิได้ ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่น่าพิจารณาว่า บุคคลที่เคยเห็นผิด เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม พอได้อาศัยการฟังพระธรรม แล้วพิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล ย่อมเกิดความเห็นถูกได้ แต่ถ้าไม่ฟังและไม่พิจารณา ก็หมดหนทางที่จะเห็นถูกได้ ย่อมยึดถือความเห็นผิด ว่า เป็นความเห็นถูกอยู่เรื่อยๆ แล้วเมื่อมีการสะสมความเห็นผิด จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง ย่อมจะทำให้ความเห็นผิดนั้นมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไปอีก และอาจจะเห็นผิดมากขึ้นอีกด้วยยากที่จะแก้ไข แต่ถ้าสะสมปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นถูกขั้นฟัง และขั้นอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดความเห็นผิดก่อนๆ ก็ย่อมจะหมดได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญจริงๆ เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงต้องอาศัยการสะสมอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ลองคิดถึงว่า ถ้าไม่ฟังเลย จะเป็นอย่างไร จะคงยังมีความเห็นผิดอยู่ และไม่มีหนทางที่จะละความเห็นผิดได้เลยถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียด

เพราะฉะนั้นแล้ว ความเห็นถูก จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยความละเอียด และรอบคอบ เพราะขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิดก็คุ้มครองไม่ให้ตกไปในฝ่ายของความเห็นผิดแล้ว และในขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ด้วย จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติไม่ได้เลย การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นรากฐานที่สำคัญมั่นคงที่จะนำไปสู่การขัดเกลาละคลายกิเลสทั้งหลาย มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ