[คำที่ ๓๔๗] ราค
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ราค”
คำว่า ราค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า รา – คะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า ราคะ หมายถึง ความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน นิยมแปลในภาษาไทยว่า ความกำหนัด ซึ่งก็คือ ความติดข้องยินดีพอใจ ติดข้องในสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะติดข้องในอะไรก็ตาม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก นั่นเอง ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับจนหมดสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ราคะหรือโลภะ ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ราคะ เมื่อเกิดขึ้น ก็ไม่สละซึ่งสิ่งนั้น ไม่ปล่อยให้เป็นกุศลเลย ความดีเกิดไม่ได้เลยในขณะที่ราคะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่
ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของความติดข้องยินดีพอใจ ไว้ ดังนี้ คือ
โลภะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ การกำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ความกำหนัด ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าโลภะมีในสมัยนั้น.
ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เกสปุตตสูตร แสดงถึงโทษของความติดข้องยินดีพอใจไว้ ดังนี้ คือ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามชนชาวกาลามะ ว่า “ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โลภะความอยากได้ เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือว่า เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์?”
ชนชาวกาลามะ กราบทูลว่า “โลภะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามต่อไปว่า “บุรุษผู้โลภแล้ว อันความโลภครอบงำแล้ว มีใจอันความโลภยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ถึงภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภแล้ว ย่อมชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น อันนี้จริงหรือไม่?”
ชนชาวกาลามะ กราบทูลว่า “ข้อนี้ จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง เตือนให้ได้เข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นไปจากธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แม้แต่ราคะ ก็เช่นเดียวกัน เป็นความติดข้อง ความยินดี ความกำหนัดยินดี ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงราคะอย่างที่คนไทยเข้าใจ เพราะกว้างกว่านั้น แม้ยินดีในดอกไม้สวย ในกลิ่นหอม ในอาหารอร่อย เป็นต้น ก็เรียกว่า ราคะ จะเห็นได้ว่า สิ่งใดที่มีราคามาก สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องวัดราคะ ความยินดีว่ามีมากแค่ไหน ราคะจึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมประการหนึ่ง ไม่ว่าจะติดข้องในอะไร หรือเกิดกับใครก็ตาม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็คือ โลภเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ ความติดข้องยินดีพอใจ) ราคะ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ เกิดเมื่อใดก็ผูกพันไว้กับสิ่งนั้น ผูกพันไว้ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ไม่ทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย ราคะ ซึ่งเป็นความยินดีพอใจ นั้น มีหลายระดับขั้น กล่าวคือ มีทั้งระดับที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และ ที่มีกำลังมาก หรือ เกินประมาณ ถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น
แม้บุคคลผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นพระภิกษุ ถ้าหากว่า เป็นเพียงเพราะอยากบวช นั่นก็ไม่พ้นจากราคะความติดข้องยินดีพอใจแล้ว และเป็นความติดข้องที่มีกำลังด้วย เนื่องจากว่าไม่ได้ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตเลย ประพฤติผิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองเท่านั้น เช่น รับเงินรับทอง ย่อมไม่พ้นจากราคะแน่ เพราะต้องการแน่ๆ ติดข้องแน่ๆ จึงรับ เป็นความติดข้องที่มีกำลังอย่างชัดเจน เพราะเหตุว่าสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ตามพระวินัยบัญญัติที่จะขัดเกลากิเลสโดยการศึกษาธรรมให้เข้าใจ ขัดเกลากิเลสโดยต้องประพฤติตามธรรมวินัย แต่กลับมารับเงินและทอง ซึ่งเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ พระภิกษุจะมามีความประพฤติเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้โดยประการทั้งปวง
บุคคลผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเห็นความลึกซึ้ง เห็นความเหนียวแน่นของความยินดีพอใจ ซึ่งมีในทุกๆ วันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจในทรัพย์ ความพอใจในบุคคล ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รักนั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในภพหนึ่งๆ ถ้าสามารถที่จะระลึกถอยไปได้ ก็จะเห็นได้ว่าความพอใจในสัตว์บุคคล ในญาติพี่น้อง ในมิตรสหาย ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รัก ในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแล้ว ย่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงควรที่จะพิจารณาโดยละเอียด ว่า ความติดข้องยินดีพอใจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกได้ไหม? ความติดข้องยินดีพอใจในวันนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่เคยได้สะสมความติดข้องยินดีพอใจมาเลย นี้แหละคือความเหนียวแน่นของอกุศลที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์
จะเห็นได้ว่าราคะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย บ้าง เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องในระดับใด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งนั้น เพราะเป็นอกุศลธรรม, อกุศลธรรม เป็นโทษ เป็นภัย ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย
บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อดทนที่จะศึกษา อดทนที่จะฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะเห็นประโยชน์ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การที่จะลดละคลายกิเลส มีความติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง โดยที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส แล้วกิเลสทั้งหลายก็จะค่อยๆ คลายลง กุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ดังนั้น การที่จะลดละคลายกิเลสได้ จึงมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ