[คำที่ ๓๕๒] ตปนีย

 
Sudhipong.U
วันที่  24 พ.ค. 2561
หมายเลข  32472
อ่าน  344

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ตปนีย

คำว่า ตปนีย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ตะ - ปะ - นี - ยะ] แปลว่า

ที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน, เหตุที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน แสดงถึงความเป็นไปของอกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น ที่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อน ไม่นำมาซึ่งประโยชน์สุขใดๆ เลย เพราะถูกอกุศลธรรมครอบงำ จึงทำดีไม่ได้ และ ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนเท่านั้น

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ตปนียสูตร แสดงความเป็นจริงของเหตุที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน ดังนี้ คือ

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้ เป็นเหตุให้เดือดร้อน, ๒ ประการ เป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีงามไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำบุญอันเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำอกุศลกรรมอันหยาบช้า ทำอกุศลกรรมอันกล้าแข็ง บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันงาม ดังนี้ บ้าง ย่อมเดือดร้อน ว่า เราทำแต่บาป ดังนี้ บ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เดือดร้อน”


ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินในแต่ละวันในฐานะของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อยู่นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งดี และ ไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนในสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเกิดขึ้นได้เลย

ชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ดำเนินไปอย่างผู้ที่ไม่มีปัญญา ดำเนินไปด้วยความประมาท มัวเมา ไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นประโยชน์ของกุศล จิตใจมีแต่จะคล้อยไปในทางที่เป็นอกุศล พอกพูนกิเลส ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก เป็นผู้เสื่อมอย่างที่สุดเพราะไม่มีปัญญาที่เข้าใจความจริง ทั้งๆ ที่รู้ว่าในที่สุดแล้วก็จะต้องตาย แต่ก็ยังประมาทอยู่ เพราะไม่มีปัญญา ไม่เห็นคุณของกุศลและ ไม่เห็นโทษของอกุศล นั่นเอง บุคคลประเภทนี้ ย่อมเดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เดือดร้อนทั้งในขณะที่อกุศลเกิดขึ้น และ เดือดร้อนเมื่อถึงคราวที่ได้รับผลของความไม่ดีที่ได้ทำไว้ โดยไม่มีใครทำให้เลย, ในทางตรงกันข้ามชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ดำเนินไปตามปกติ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาให้เบาบางลง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

บุคคลผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาแสดง ต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมศรัทธาเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้วในอดีต แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าสะสมกุศลมามากมาย ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง จริงใจ มั่นคง แม้แต่การเป็นผู้ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ความติดข้องต้องการ ความเห็นผิด เป็นต้น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ และการที่จะขัดเกลาละคลายได้ ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง บุคคลผู้ที่มีสติ (ระลึกเป็นไปในกุศล) ก็จะรู้ว่ากุศลนั้นเป็นสภาพที่น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว แล้วเกิดหิริ ความละอายในกุศลนั้น มีโอตตัปปะ ความเกรงกลัวแม้ในกุศลนั้นด้วย เพราะไม่มีใครสามารถที่จะเอากุศลที่สะสมมาในจิตของตนเองออกไปได้เลย นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเข้าใจพระธรรม และรู้จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า เพื่อขัดเกลาละคลายกุศลของตนเองซึ่งมีเป็นอย่างมาก

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจและเห็นโทษของกุศล จึงเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศลเกิดแทนอกุศลได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่เห็นโทษของกุศล ก็จะเดือดร้อนเพราะกุศลที่เกิดขึ้น และจะพอกพูนกุศลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า กุศล เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัย โดยอาศัยความเข้าใจ และการเห็นโทษของกุศล ที่เกิดจากได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และทุกคนก็รู้ว่าชีวิตสั้นมาก จะจากโลกนี้ไปได้ทุกขณะ เย็นนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีค่าที่สุด ประโยชน์ที่สุด คือ ได้เข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งมาจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และความเข้าใจพระธรรม ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใดๆ เลยแม้แต่น้อย เป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ