[คำที่ ๓๕๓] กมฺมเสฏฺฐ

 
Sudhipong.U
วันที่  31 พ.ค. 2561
หมายเลข  32473
อ่าน  281

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กมฺมเสฏฺฐ

คำว่า กมฺมเสฏฺฐ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กำ - มะ - เสด - ถะ] มาจากคำว่า กมฺม (การงาน,การกระทำ) กับคำว่า เสฏฺฐ (ประเสริฐ) รวมกันเป็น กมฺมเสฏฺฐ แปลว่า การงานที่ประเสริฐ หรือ การกระทำที่ประเสริฐ ไม่พ้นไปจากความดีทุกอย่าง ความประพฤติสุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลาละคลายกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) จนกว่ากิเลสทั้งหลายจะถูกดับหมดสิ้นไป แต่ถ้าเป็นความชั่วหรือทุจริตประการต่างๆ แล้ว แม้จะเล็กน้อยเพียงใด หรือ แม้จะไม่มีคนอื่นเห็นในขณะที่ทำ ก็ตาม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเสริฐเลย และ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำด้วย

ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ การงานที่ประเสริฐ คือ การอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลาละกิเลส ที่จะทำให้ถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลสอย่างแท้จริง ดังข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุทกกนิกาย เถรีคาถา โรหิณีเถรีคาถา ว่า

“สมณะเหล่านั้น กระทำงานอันประเสริฐ สูงสุด ซึ่งนำมาเพื่อพระนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ) อย่างเดียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ทำงานอันประเสริฐสุด, อนึ่ง สมณะเหล่านั้น กำลังกระทำอยู่ ชื่อว่า กำลังละราคะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) คือ การทำงาน โดยการที่จะละราคะ โทสะเสียได้ เพราะการปฏิบัตินั้น ไม่มีโทษ”


ชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละคน ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมใด และเมื่อใด เพราะเหตุว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว และกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว เป็นเหตุปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และที่สำคัญ อกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เวลาที่มีเหตุมีปัจจัยถึงกาลที่ควรจะให้ผลเกิดขึ้น ผลนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะดับขันธปรินิพพาน (ดับโดยรอบซึ่งขันธ์ อันเป็นการตายของพระอรหันต์) เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าบุคคลที่ได้สะสมปัญญาจนสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังไม่สามารถจะพ้นจากผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว จนกว่าจะดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ และชีวิตอีกส่วนหนึ่ง เป็นการสะสมเหตุ คือ กุศล และ อกุศลที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า

กุศลกรรม ความดีทุกอย่างทุกประการ ควรกระทำ ไม่ควรล่วงเลยไป กุศลกรรมที่ทำไว้ในปัจจุบันชาตินี้ แม้จะยังไม่ได้โอกาสที่จะทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์หรือในสวรรค์ แต่แม้กระนั้นกุศลกรรมที่ทำไว้ ก็ยังมีโอกาสที่จะติดตามไปอุปถัมภ์ตามสมควรแก่ภพภูมินั้นๆ ได้

ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล เมื่อตายจากปัจจุบันชาตินี้แล้ว ก็ไม่สามารถทราบได้ว่ากรรมใดจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในภูมิใด ถ้าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้มีโอกาสที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องเกิดในอบายภูมิ แล้วแต่ว่าความวิจิตรของอกุศลกรรมที่เป็นปัจจัยนั้น จะทำให้ปฏิสนธิในนรกหรือว่าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย ซึ่งมากไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อน

ก่อนที่จะศึกษาธรรม ไม่ทราบเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิเลย เมื่อเกิดมาก็ไม่ทราบว่า เกิดมาเพราะอะไร แล้วก็ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ศึกษาธรรม ไม่ศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ท่านอาจจะนึกคาดคะเนต่างๆ นานาตามความคิดความเห็น บางท่านก็คิดว่าเมื่อสิ้นชีวิตจากปัจจุบันชาตินี้แล้ว ก็ไม่มีการเกิดอีก เพราะไม่ทราบว่าที่เกิดขึ้นมานั้น มีนามธรรมซึ่งเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และบางท่านก็คิดว่า เมื่อเกิดแล้วก็ตายก็คงจะสูญหายไปเลย ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการสืบต่อดำรงภพชาติต่อไป บางท่านก็อาจจะคิดอย่างนั้น

แต่ว่าบางท่านก็อาจจะเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรม ได้พิจารณา ก็มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า เมื่อจุติ (เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ คือ ตาย) จากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะต้องมีการเกิดคือมีการปฏิสนธิ แต่ก็ยังไม่ทราบเหตุผลชัดเจนว่าเหตุอย่างใดจะทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทใดเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อศึกษาต่อไปก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีเชื้อ มีเหตุ มีปัจจัย คือ กิเลสยังไม่ดับหมดสิ้น ก็จะต้องมีการปฏิสนธิการเกิดอีกหลังจากที่จุติแล้ว จะไม่สูญไปเลย เพราะเหตุว่าเชื้อหรือเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธินั้นยังมีอยู่

เมื่อได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่า เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของกิเลส โดยละเอียดนั้น ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า กิเลส มีมากมายทีเดียว ไม่ใช่น้อยเลย เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะดับกิเลสจริงๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าผู้ที่จะเจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง แล้วก็รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ยิ่งรู้ละเอียด รู้ทั่ว รู้ชัดก็ยิ่งจะละคลายกิเลส และสามารถที่จะแทงตลอด แล้วก็รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ตนเองได้คลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลงไปมากน้อยเพียงใดแล้ว ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ จึงสามารถที่จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้

เกิดมาแล้ว ต้องตายทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้ ความตายจะมาถึงเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้เลยจริงๆ ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ เด็กจะตายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่จะตายก่อนเด็ก ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการทำงานที่ประเสริฐที่สุด เพราะเหตุว่าปกติในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็มีงานเพิ่มกิเลสอยู่ตลอด สะสมแต่สิ่งที่ไม่ดีมากมาย แต่งานขัดเกลาละคลายกิเลส จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องตั้งต้น เริ่มต้นที่การเห็นประโยชน์ของการมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นคำจริงทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเห็นว่าพระธรรมมีค่า มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ก็จะเริ่มฟัง เริ่มศึกษา ซึ่งเมื่อฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ