[คำที่ ๓๕๔] กมฺมสมาทาน
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กมฺมสมาทาน”
คำว่า กมฺมสมาทาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กำ - มะ - สะ - มา - ทา - นะ ] มาจากคำว่า กมฺม (การกระทำ,กรรม) กับคำว่า สมาทาน (ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติด้วยดี) รวมกันเป็น กมฺมสมาทาน เขียนเป็นไทยได้ว่า กัมมสมาทาน หรือ กรรมสมาทาน แปลว่า การถือเอาซึ่งกรรม, หรือ แปลโดยความ ก็คือ กรรมที่บุคคลกระทำแล้ว นั่นเอง ทั้งที่เป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ตามข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต พลสูตร ดังนี้ คือ
“บทว่า กมฺมสมาทานานํ ได้แก่ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ที่บุคคลตั้งใจกระทำแล้ว, อีกอย่างหนึ่ง กรรม นั่นเอง ชื่อว่า กรรมสมาทาน”
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง และธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในตำราเลย แต่มีจริงทุกขณะ แม้แต่ กรรม ก็เป็นธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะกรรม เป็นเจตนา เป็นความจงใจตั้งใจขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งที่เข้าใจกัน มีทั้งกระทำกรรมดี (เช่น ให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น) และ กระทำกรรมไม่ดี (เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น) เป็นเหตุที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้า ตามเหตุตามปัจจัย ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น เจตนา เป็นธรรมประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะไม่ปราศจากเจตนาเลย แต่ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า มุ่งหมายถึงเฉพาะเจตนาที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เท่านั้น
จากข้อความในอรรถกถาทั้งหลาย เช่น อรรถกถา พลสูตร เป็นต้น มีคำว่า “กัมมสมาทาน” แปลโดยศัพท์ คือ การถือเอาซึ่งกรรม แปลโดยความก็คือ กระทำกรรม เป็นที่เข้าใจว่าเวลาที่จะกระทำกุศลประการต่างๆ ย่อมมีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอาหรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ อย่างเช่น ถ้าบุคคลที่ตั้งใจจะถวายทาน ก็มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือเอากรรมนั้น ก็คือ มีการถวายทาน หรือ ในทางตรงกันข้าม ถ้าต้องการจะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมมีแล้วในขณะนั้น แต่การกระทำอกุศลกรรม เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น เป็นการกระทำที่ชั่ว ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่โทษเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า การตั้งใจที่จะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือ เป็นการถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เราที่ทำกรรม เพราะฉะนั้น กรรมของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันไปตามกัมมสมาทาน คือ การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ มีทั้งที่เป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรม
โดยมากเวลาที่พูดถึงเรื่องกรรม ทุกคนอาจจะนึกถึงกรรมใหญ่ๆ แต่ว่าชีวิตประจำวันของท่านอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลใด กรรมที่ท่านกระทำต่อบุคคลนั้นเคยพิจารณาบ้างหรือไม่ เป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ยังไม่ต้องคิดถึงกรรมใหญ่ๆ ที่จะกระทำ แต่กรรมที่กระทำต่อบุคคลใกล้ชิดเป็นประจำวันถ้าได้พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ย่อมทำให้ละอกุศลกรรมและเจริญกุศลกรรมมากขึ้น พิจารณากรรมของท่านต่อบุคคลอื่นในระหว่างมิตรสหายผู้ใกล้ชิดคุ้นเคยกันหรือผู้ที่อยู่ในบ้าน ว่า มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดีต่อกัน ทำสิ่งที่ประโยชน์ต่อกันหรือไม่ หรือบางท่านอาจจะไม่ชอบคนใกล้ชิดหรือว่าคนที่พบกันบ่อยๆ บางทีความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วในจิต แม้ยังไม่ถึงกับแสดงออกทางกายหรือวาจา แต่ก็ไม่ดีแล้วในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ยิ่งถ้ามีกำลังมากขึ้นก็จะเป็นเหตุทำให้มีการประทุษร้ายเบียดเบียนกันทั้งทางกายและทางวาจาได้ ไม่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว พระธรรมจึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี ให้ไม่ประมาทในกุศลและในอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย
เมื่อได้ศึกษาในเรื่อง “กัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรม” แล้ว ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพราะในอดีตชาติเราก็เคยได้กระทำกรรมมาแล้ว ทั้งดี ทั้งไม่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ดี นั้น มีมาก เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือทำอะไรได้ แต่ในขณะนี้ เราสามารถสะสมในสิ่งที่ดีงามต่อไปได้ ด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในการสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสะสมเหตุที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเห็นที่ถูกต้องตรงตามตามความเป็นจริง เมื่อมีความเข้าใจธรรมมากๆ ขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดีขึ้น ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลไปตามลำดับ คล้อยไปตามปัญญาที่เจริญขึ้น, ความดีที่ได้สะสมไว้นี้ ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และ ความดี คือ กุศลกรรมทั้งหลาย ย่อมนำมาซึ่งผลที่ดี ไม่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย
เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใด จะให้ผลเมื่อใด ทางที่ดีที่สุด คือ พึงกระทำเฉพาะกรรมที่ดีงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น โดยที่ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่ไปทำ แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจ ส่วน สิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลกรรมทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะกระทำ เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ ความดี เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่จะนำพาชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ไม่นำพาไปในทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่เริ่มต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ฟังด้วยดี ด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ซึ่งแต่ละคำเป็นพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเกิดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ