[คำที่ ๓๕๘] จิตฺตวิปตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ก.ค. 2561
หมายเลข  32478
อ่าน  345

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จิตฺตวิปตฺติ”

คำว่า จิตฺตวิปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิด - ตะ - วิ - ปัด - ติ] มาจากคำว่า จิตฺต (จิต,สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) กับคำว่า วิปตฺติ (ความเสื่อม,วิบัติ) รวมกันเป็น จิตฺตวิปตฺติ เขียนเป็นไทยได้ว่า จิตวิบัติ หรือ จิตตวิบัติ แปลว่า ความเสื่อมแห่งจิต ซึ่งแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิต เพราะขณะที่จิตเป็นอกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น โลภะ (ความติดข้องต้องการ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) เป็นต้น ทำให้ขณะนั้นจิตเศร้าหมอง มัวหมอง

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อยสูตร แสดงความเป็นจริงของจิตตวิบัติ ดังนี้คือ

“จิตตวิบัติ เป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีอภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น) มีใจพยาบาท (ปองร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น) นี้ เรียกว่า จิตตวิบัติ”


ในชีวิตประจำวัน โดยปกติของผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ย่อมจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอกุศลจิตจะไม่เกิดขึ้น เพราะอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติจริงๆ เกิดมากกว่ากุศลจิตอย่างเทียบกันไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หวั่นไหวไปในเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยอำนาจของกิเลสที่ได้สะสมมาเป็นเวลาที่ยาวนานตลอดเวลาของการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมานับชาติไม่ถ้วน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลผู้ที่มากไปด้วยกิเลส มี ความติดข้อง ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ความไม่รู้ เป็นต้น ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ พ้นจากความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แม้แต่ในเรื่องของจิตตวิบัติ หรือ ความเสื่อมแห่งจิต ก็เป็นสิ่งที่มีจริงที่พระองค์ทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีให้เห็นโทษเห็นภัยของสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมแห่งจิตจริงๆ ตามความเป็นจริง

คำว่า วิบัติ หมายถึง ความเสื่อม ถ้าเป็นความเสื่อมหรือความวิบัติที่มีโทษ ก็ต้องเป็นความวิบัติหรือความเสื่อมของจิต ซึ่งก็คือจิตที่ประกอบด้วยธรรมฝ่ายที่ไม่ดี นั่นเอง ซึ่งทำให้เป็นผู้มีจิตวิบัติ คือ อกุศลจิต ประเภทที่มีความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย หรือประเภทที่มีความโกรธความขุ่นเคืองใจเกิดร่วมด้วย ที่จะทำให้มีความประพฤติเป็นไปตามอกุศลนั้นๆ เป็นผู้ตกต่ำด้วยอำนาจของอกุศลธรรม, ความเสื่อมที่เห็นๆ กันอยู่ อย่างเช่น ความเสื่อมทรัพย์ เสื่อมญาติ เสื่อมยศ เป็นต้น ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่ถ้ามีความเสื่อมเพราะอกุศลธรรมทั้งหลาย มีโลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เป็นต้นแล้ว เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิซึ่งเป็นภูมิที่เกิดที่ไม่มีความเจริญในธรรม มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์ดิรัจฉาน ได้ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

ถ้าโลภะเกิดหรือถ้าโทสะเกิดแล้วจะให้กายวาจาเป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ นั้น ก็เพราะว่า ไม่ได้คล้อยตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม กล่าวได้ว่า ความประพฤติที่ผิดทั้งหมด มาจากเหตุที่สำคัญ คือ เพราะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะถ้าเป็นปัญญาแล้ว จะไม่นำพาไปในทางที่ผิดเลย มีแต่จะเกื้อกูลให้ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละทิ้งสิ่งที่เป็นโทษหรือไม่เป็นประโยชน์

จะเห็นได้ว่า เวลาที่ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็ทำร้ายจิตของตนเองแล้ว ถ้าโกรธมาก ก็อาจจะถึงขั้นทำร้ายประทุษร้ายเบียดเบียนบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมโทสะมาแล้ว, เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการ ถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม เบียดเบียนบุคคลอื่นได้เดือดร้อนได้ เช่น ลักขโมยของของผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งขณะที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เท่ากับเป็นการเบียดเบียนตนเอง ด้วยการสะสมอกุศล สะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า ซึ่งจะต่างกันกับขณะที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง เพราะกุศลหรือความดีทั้งหมด ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น

ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา จนกระทั่งเมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็จะสามารถละอกุศลซึ่งเป็นความเสื่อมของจิตได้ในที่สุด เพราะอกุศลทั้งหลาย จะหมดไปได้นั้น ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา แต่การละอกุศลจนหมดสิ้นนั้น เป็นเรื่องที่ไกลมาก ก็จะต้องอาศัยการสะสมปัญญาต่อไปอีกเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อได้เกิดมาแล้ว การได้ยินสิ่งที่มีค่าที่ประเสริฐที่สุด คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงดีกว่าได้ยินเรื่องอื่น เพราะได้ยินเรื่องอื่นก็ได้ยินมามากแล้วในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะที่ได้ฟังพระธรรมที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์กับชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะสะสมสืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขขัดเกลาละคลายความเสื่อมของจิตได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ