[คำที่ ๓๖o] พุทฺธวจนเตช

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ก.ค. 2561
หมายเลข  32480
อ่าน  306

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ พุทฺธวจนเตช

คำว่า พุทฺธวจนเตช เป็นคำบาลีโดยตรง (อ่านตามภาษาบาลีว่า บุด - ดะ - วะ - จะ - นะ - เต - ชะ) มาจากคำว่า พุทฺธ (พระพุทธเจ้า,ผู้ทรงตรัสรู้ความจริง) วจน (คำ หรือ คำพูด) และคำว่า เตช (เดช,สิ่งที่เผาสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน) รวมกันเป็น พุทฺธวจนเตช แปลว่า เดชคือพระพุทธพจน์,พุทธวจนเดช แสดงถึงความเป็นจริงว่าคำใดที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง คำนั้น เป็นคำของพุทธเจ้า หรือ เป็นพระพุทธพจน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใครกล่าวก็ตาม โดยประมวลแล้ว คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด “ทุกคำ เพื่อปัญญาอย่างแท้จริง” และ พระธรรม ทุกคำ เป็นเดช เพราะสามารถเผาผลาญความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ กล่าวได้ว่า พระธรรมทั้งหมด เป็นเดชที่สำคัญที่ทำให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้น จนถึงสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของเดช และ พุทธวจนเดช หรือ ธรรมเดช ไว้ว่า

“คำว่า เตโช (เดช) ความว่า เดชมี ๕ คือ จรณเดช คุณเดช ปัญญาเดช ปุญญเดช ธรรมเดช, บุคคลผู้มีจิตอันกล้าแข็ง ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ทุศีลให้สิ้นไป ด้วยเดชคือศีลเครื่องดำเนินไป (จรณเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่คุณให้สิ้นไป ด้วยเดชคือคุณ (คุณเดช) , ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ไม่มีปัญญาให้สิ้นไป ด้วยเดชคือปัญญา (ปัญญาเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่บุญ ให้สิ้นไป ด้วยเดชคือบุญ (ปุญญเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่ธรรมให้สิ้นไป ด้วยเดชอันเป็นธรรม (ธรรมเดช) ”

บทว่า ธมฺมเตโช (ธรรมเดช) คือ พุทธวจนเดช อันเป็นหลักแห่งเดช ๔ (คือ เป็นหลักแห่งจรณเดช คุณเดช ปัญญาเดช และ ปุญญเดช) 


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมในแต่ละครั้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง เพียงพอแก่ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้ ตามกำลังปัญญาของผู้นั้น พระองค์ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นั้นผู้นี้มานับถือพระองค์ แต่คำจริงที่พระองค์ตรัสแต่ละคำๆ เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้นั้น พระองค์ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีการพิจารณาไตร่ตรอง เห็นด้วยตนเองตามความเป็นจริง เกิดปัญญาเป็นของตนเอง เมื่อได้ฟัง ได้พิจารณา เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว จากที่เคยเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลประการต่างๆ ก็สามารถที่จะละคลายอกุศล ขัดเกลากิเลสของตนเอง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง ขัดเกลาละคลายอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความเห็นผิด ความติดข้อง และความไม่รู้ เป็นต้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายผิด พระธรรมย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริง มั่นคงในความถูกต้อง ไม่หวั่นไหวไม่คล้อยตามในสิ่งที่ผิดที่ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระองค์ เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ซึ่งกว่าจะได้ทรงตรัสรู้นั้น พระองค์ต้องอาศัยการสะสมพระบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ย่อมไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง คำที่พระองค์ตรัส เป็นคำจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นวาจาสัจจะ แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แล้ว มีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นพระคุณของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถพ้นไปจากความเห็นผิด และไม่สามารถพ้นไปจากความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้เลย แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมยังดำรงอยู่ ซึ่งถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ฟังพระธรรม แต่คิดเอาเองว่าเข้าใจธรรมแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ประมาทอย่างแท้จริง เพราะย่อมมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้เลย แต่ว่าถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่เสมอ บ่อยๆ เนือง ๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ก็ย่อมมีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงยิ่งขึ้น

จะเห็นได้เลยว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้นในสิ่งที่มีจริงในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และจะไม่รู้อย่างนั้นไปตลอด ไม่มีใครที่จะสามารถให้ความจริงให้ความเข้าใจได้เลย แต่อานุภาพของธรรม คือ พุทธวจนเดช หรือ ธรรมเดช นี้เอง ซึ่งเป็นคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว จะอุปการะเกื้อกูลให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดในสังสารวัฏฏ์ คือ ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี และ ทำให้รู้ว่าผู้ที่สามารถรู้ความจริงที่จะทรงสามารถแสดงความจริงนี้ได้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เห็นถึงพระมหากรุณาคุณของผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนถึงความตรัสรู้ เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสามารถที่จะทรงแสดงธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ให้คนอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จะค่อยๆ เจริญขึ้นจากพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อมีความเข้าใจถูก ก็สามารถรู้ว่า สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งที่ไม่ดี และสิ่งใดที่เป็นกุศล เป็นความดีประการต่างๆ ปัญญาจะนำไปสู่ทางของกุศล ค่อยๆ ออกห่างจากอกุศลซึ่งเคยมีมากมายไปทีละเล็กทีละน้อย ปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศลอย่างแท้จริง ถือเอาเฉพาะสิ่งที่ควร ละทิ้งสิ่งที่ไม่ควรโดยประการทั้งปวง ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็มาจากได้อาศัยพระธรรมแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพุทธวจนเดช หรือ ธรรมเดช นั่นเอง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ