[คำที่ ๓๖๑] ปญฺจกฺขนฺธ

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ก.ค. 2561
หมายเลข  32481
อ่าน  506

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปญฺจกฺขนฺธ

คำว่า ปญฺจกฺขนฺธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัน - จัก - ขัน - ดะ] มาจากคำว่า ปญฺจ (๕) กับคำว่า ขนฺธ (สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) ซ้อน กฺ จึงรวมกันเป็น ปญฺจกฺขนฺธ แปลว่า สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า ๕ ประการ, ขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างแท้จริง ขณะนี้ เป็นขันธ์ และ มีครบทั้ง ๕ ขันธ์ ด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้เลย

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงขันธ์ทั้ง ๕ ไว้ดังนี้

ขันธ์ ๕ อย่าง ได้แก่ ๑. รูปขันธ์ ๒. เวทนาขันธ์ ๓. สัญญาขันธ์ ๔. สังขารขันธ์ ๕. วิญญาณขันธ์

ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถสูตร แสดงความเป็นจริงของขันธ์แต่ละขันธ์ไว้ดังนี้

“จิต นั้น ได้แก่ วิญญาณขันธ์

เวทนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์ นั้น ชื่อว่า เวทนาขันธ์

สัญญาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่า สัญญาขันธ์

ผัสสะและเจตนา เป็นต้น ที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่า สังขารขันธ์

ขันธ์ทั้ง ๔ ดังว่ามานี้ ชื่อว่า อรูปขันธ์ (นามขันธ์ ๔) .

อนึ่ง มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่า รูปขันธ์.

บรรดารูปขันธ์และอรูปขันธ์นั้น อรูปขันธ์ ๔ เป็นนาม รูปขันธ์เป็นรูป.

มีธรรมอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ นาม ๑ รูป ๑”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ (รู้อย่างแจ่มแจ้ง) ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงให้ประโยชน์กับคนอื่นจากแต่ละคำ ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่แสนไกลหรือแม้กระทั่งช่วงเวลาใกล้ที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไปในสังสารวัฏฏ์ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีจริง ต้องรู้ในสิ่งที่มีจริง ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงตรัสรู้ นั้น ทรงตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ทุกกาลสมัย

คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ล้าสมัย ประโยชน์ที่พระองค์ทรงมอบให้กับพุทธบริษัทก็คือ ความเข้าใจซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ถ้าหากกล่าวถึงการที่จะให้อะไรแก่ใคร ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าอาหาร เป็นต้น สิ่งนั้น ไม่ได้ดำรงอยู่เลย ต้องหมดสิ้นไปแน่ แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้คนซึ่งเข้าใจแล้ว ความเข้าใจไม่หมด เพราะเหตุว่า สะสมสืบต่อไปจนกระทั่งสามารถรู้ความจริงจนถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ จึงแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

แม้แต่ในคำว่า ขันธ์ ๕ ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า มีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทุกขณะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ เลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยังยืน เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน ที่จะเป็นประโยชน์แล้ว ความเข้าใจมาก่อน ชื่อมาทีหลัง เพราะจริงๆ แล้ว ขันธ์ ๕ มีจริงๆ และมีจริงในชีวิตประจำวันในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด ก็ไม่พ้นจากขันธ์ เลย ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ล้วนมีจริงๆ เกิดแล้วดับไป ทั้งหมด เป็นขันธ์

ขันธ์ ๕ โดยประเภท ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ ไม่ใช่ให้จำในจำนวน แต่ให้เริ่มเข้าใจ ว่า ต้องมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เป็นขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และ เห็น มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงประมวลได้ว่า ในขณะที่เห็น มีอะไรบ้างที่เป็นขันธ์ กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปขันธ์ และ เห็น ก็เป็นขันธ์ คือ เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจหน้าที่) เอกัคคตา (สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี้คือ การยกตัวอย่างให้เข้าใจถึงความเป็นขันธ์ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ไม่พ้นจากขันธ์เลย ธรรมมีมากทีเดียว จึงต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นต่อไป ตราบใดที่ยังเห็นประโยชน์ ฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ไม่ขาดการฟังการศึกษา ความเข้าใจถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มั่นคงขึ้น

จากการที่ไม่รู้เลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงที่กำลังมีในขณะนี้ ก็เริ่มที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่อให้คนที่กำลังฟังในขณะนี้ รู้ตาม ไม่ใช่คิดเอง การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็น ธรรมเป็นอย่างนี้ เป็นแต่ละขันธ์จริงๆ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าทุกขณะ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้และละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ