[คำที่ ๓๗o] อนตฺตภาว

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ก.ย. 2561
หมายเลข  32490
อ่าน  311

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อนตฺตภาว

คำว่า อนตฺตภาว เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นัด - ตะ - ภา - วะ] มาจากคำว่า อนตฺตา (ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล,ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) กับคำว่า ภาว (ความเป็น) รวมกันเป็น อนตฺตภาว แปลว่า ความเป็นอนัตตา แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และเป็นสภาพธรรมที่ปฏิเสธต่อความเป็นตัวตนสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง

ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ แสดงความเป็นจริงของความเป็นอนัตตา ไว้ว่า

อนึ่ง จักขุ (หมายถึง ตา เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง) นั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ, อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.

(หมายเหตุ ในที่นี้ยกมาเฉพาะ จักขุ เท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ธรรมทั้งปวง ล้วนเป็นอนัตตา)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง หมายความว่า เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ สิ่งที่มีจริงที่พระองค์ทรงแสดง พระองค์ทรงตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง พระองค์ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะความหมายของอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนสัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ และปฏิเสธต่ออัตตา (ตัวตน) อย่างสิ้นเชิง ความจริงเป็นอย่างนี้ ความเป็นอนัตตา ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทั้งหมด คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) และพระนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ปราศจากทุกข์) เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนในสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งมีแล้ว แต่ไม่รู้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น ก็ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนสัตว์บุคคล ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงอนัตตา ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธา ความผ่องใสแห่งจิต เป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความละอาย เป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความจำ เป็นอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นต้น เป็นธรรม แต่ละหนึ่งๆ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ ต้องมีปัญญา แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ต้องมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพราะเคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงฟัง จึงศึกษา เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ปัญญาย่อมจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดเลย แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แต่การใช้คำพูดในการสื่อสาร ก็อาจจะพูดว่า สร้างเหตุ หรือ เจริญเหตุ หรือ ทำเหตุ อบรมเหตุ เป็นต้น โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธโวหารหรือคำพูดของชาวโลก แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเจริญ ไม่มีใครทำ มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่มีจริง

ดังนั้น การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลตั้งแต่ต้น เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ และที่สำคัญ แต่ละขณะ นั้น ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาอยู่แล้ว คือ ไม่มีใครทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ