[คำที่ ๓๗๓] กลฺยาณวาจ

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ต.ค. 2561
หมายเลข  32493
อ่าน  353

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กลฺยาณวาจ

คำว่า กลฺยาณวาจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [ อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - ละ- ยา - นะ -วา - จะ ] มาจากคำว่า กลฺยาณ (ดีงาม) กับคำว่า วาจ (ผู้พูด,ผู้มีวาจา) รวมกันเป็น กลฺยาณวาจ หมายถึง ผู้มีวาจา (คำพูด) ที่ดีงาม เป็นถ้อยคำที่ไม่เป็นโทษ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งมาจากจิตที่ดีงาม และ บุคคลผู้มีถ้อยคำที่ดีงาม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด นั้น คือ การกล่าวธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก

แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ถ้อยคำที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ควรอย่างยิ่งที่จะเปล่งออกมา หรือ พูดออกมา แต่ถ้าเป็นถ้อยคำที่หยาบคายต่ำช้าที่มาจากจิตที่เป็นอกุศล แล้ว ไม่ควรเลยที่จะพูด ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค กามสูตร ว่า

วาจาที่ดีงาม ควรปล่อย (คือควรพูด) แต่วาจาที่ลามก (หยาบคาย,ต่ำช้า) ไม่ควรปล่อย (ไม่ควรพูด)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด และเป็นเครื่องเตือนที่ดีในชีวิตประจำวัน เตือนทุกแง่มุมของชีวิต เพื่อความไม่ประมาทในอกุศลธรรมและเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมขัดเกลาความไม่ดีของตนเอง จึงเป็นคำสอนที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง ก็จะมีความเห็นผิดเกิดมากมายหลายประการ เนื่องมาจากการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่มีแต่ความเห็นผิดเท่านั้น อกุศลธรรมประการอื่นๆ ที่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ก็เป็นไปด้วยอกุศลธรรมประการต่างๆ รวมไปถึงการพูด ด้วย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งไม่ใช่คำพูดที่เป็นประโยชน์ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ขณะใดคำพูดเป็นไปเพราะ กุศลจิต คำพูดเหล่านั้นจะไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่จะเป็นโทษเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น พูดเพราะอยากได้สิ่งตอบแทนจากผู้อื่น บางครั้งก็มีการพูดยกยอ ไม่ใช่การชื่นชมด้วยความจริงใจ แต่เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยความอยากความต้องการ ทำให้มีวาจาที่เป็นไปเพราะหวังในลาภ หรือว่าบางครั้งก็เป็นการพูดโอ้อวด บางครั้งก็พูดเสียดแทงให้เจ็บใจ บางครั้งก็ด่าว่าหวังที่จะให้ผู้อื่นเกิดความอับอาย บางครั้งก็พูดเหน็บแนม พูดประชดประชัน เป็นต้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นเรื่องของวาจาที่เกิดขึ้นเพราะอกุศลธรรมเท่านั้น ทำให้ปรากฏสภาพลักษณะต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ย่อมรู้ได้ทันทีว่า นั่นคือ ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะอกุศลธรรมทั้งหลาย มีแต่โทษเท่านั้น ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

การพูด เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะพูดอยู่ทุกวัน วันหนึ่งๆ เวลาที่ หิริ (ความละอายต่อ กุศลธรรม) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อ กุศลธรรม) มีกำลังขึ้น ก็จะทำให้พูดสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะพูดไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร แต่เวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาเห็นได้ว่า สิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ก็สามารถที่จะเว้นไม่พูดในขณะนั้นได้

ดังนั้น คำพูด ขึ้นอยู่กับกุศลจิตและ กุศลจิต ว่า พูดด้วยกุศลจิต หรือพูดด้วย กุศลจิต? ถ้าเป็นการพูดด้วยอกุศลจิต ไม่มีประโยชน์กับบุคคลใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรระลึกได้ ควรรู้ว่า ไม่ควรเลยที่จะกล่าว เพราะว่าคำพูดบางคำอาจจะสามารถพลิกชีวิตของบุคคลอื่นได้ทั้งชีวิตทีเดียว เช่นทำให้เขาเกิดความเสียใจอย่างหนัก แล้วก็ทำให้ประพฤติในทางที่ไม่เหมาะสมประการต่างๆ ซึ่งถ้าบุคคลนั้นงดเว้นคำพูดอย่างนั้นเสีย ก็จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่เหมาะไม่ควรอย่างนั้นขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะเว้นคำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นรู้ว่าคำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้น ไม่ควรจะกล่าว แล้วก็อบรมเจริญทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น เมื่อเป็นอย่างนี้ได้ การพูดด้วยกุศลจิต ก็จะมีมากขึ้น ทำให้เป็นผู้มีคำพูดที่ดีงาม เกิดจากกุศลจิต เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง และ ความประเสริฐยิ่งของการกล่าวคือการพูด นั้น ก็คือ การกล่าว แสดงเปิดเผยคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลผู้อื่นให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามไปด้วย เพราะ ถ้าไม่มีใครกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีทางที่ใครจะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงได้เลย

คำจริงแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งน้อยคนที่จะได้ฟังจะได้ศึกษา เมื่อเห็นค่าเห็นประโยชน์แล้วควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไป และดำรงรักษาสิ่งที่มีค่าที่สุดนี้ให้เจริญมั่นคงสืบไป ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกของแต่ละบุคคล.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ