[คำที่ ๓๗๗] สมาปตฺติ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมาปตฺติ”
คำว่า สมาปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สะ – มา – ปัด – ติ] แปลว่า ความถึงพร้อม หรือ ความพรั่งพร้อม ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงนัยที่เป็นความพรั่งพร้อมด้วยอกุศล เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิตและเจตสิกธรรม ที่เกิดร่วมด้วย ที่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ มี อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น จึงทำให้จิตเป็นอกุศล เมื่อมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากมาย ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นการพรั่งพร้อมด้วยอกุศล เพราะในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น นั้น กุศลธรรม ความดีประการต่างๆ เกิดขึ้นไม่ได้เลย
ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สมาปัตติสูตร แสดงความเป็นจริงของคำดังกล่าว ไว้ ดังนี้ คือ
“บทว่า อกุสลสฺส สมาปตฺติ ได้แก่ ความพรั่งพร้อมด้วยความเข้าถึงอกุศลธรรม”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แต่ละคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของอกุศลธรรม ทั้งหลาย นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้มากอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ
โดยธรรมดาของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศล มีความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศลประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แม้แต่วันนี้วันเดียว อกุศลธรรมเป็นอันมากเกิดขึ้นกลุ้มรุมทำร้ายจิตใจของเราอยู่เกือบจะตลอดเวลา ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งทั้งหมด ก็คือ ธรรม สิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เป็นความจริงที่ว่า เมื่อมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ จิตย่อมหวั่นไหวไปในการกระทำอกุศลประการต่างๆ , หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น จิตก็ย่อมหวั่นไหวไป เป็นไปในทางอกุศล มีความติดข้องพอใจ บ้าง ไม่พอใจบ้าง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่ออกุศลมีกำลังมากขึ้น สะสมมากขึ้น ก็ทำให้หวั่นไหวไปในการประพฤติล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ที่เป็นการกระทำอกุศลกรรม ซึ่งนอกจากจะเบียดเบียนตนเองโดยตรงแล้วยังเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของปุถุชนผู้มากไปด้วยกิเลส จะประมาทกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเป็นโทษจริงๆ ควรที่จะเห็นโทษของกิเลส ตามความเป็นจริง ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการที่ได้อาศัยพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
ควรที่จะได้พิจารณาว่า เรื่องของอกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ มีมากมาย เกิดขึ้นบ่อยมากและรวดเร็ว ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อเทียบส่วนกันกับกุศลธรรมในแต่ละวันแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย เพราะอกุศลธรรมมีมากกว่ากุศลธรรมอย่างเห็นได้ชัด เรื่องของอกุศลธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การสะสมทางฝ่ายอกุศลธรรมนั้น เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มีอกุศลจิตที่หลากหลายมาก ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ต่างกันออกไปในวันหนึ่งๆ ที่มีเป็นอย่างมากทีเดียว
ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฎก และในอรรถกถาทั้งหลาย ก็จะเต็มไปด้วยบท พยัญชนะ พระธรรมเทศนาหาประมาณมิได้ ในเรื่องของอกุศลธรรมและกุศลธรรมโดยละเอียด โดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้ผู้ศึกษาได้เห็นโทษของอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศล และเพื่อที่จะได้เห็นประโยชน์ของกุศล เพื่อที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ
ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลย ขณะใดก็ตามที่เป็นโอกาสที่กุศลจิตจะเกิด ถ้าทิ้งโอกาสนั้น พลาดโอกาสนั้น โอกาสของกุศลธรรมก็หมดไป แต่ละหนึ่งขณะๆ เมื่อเพิ่มมากขึ้นๆ ก็ยิ่งมาก เมื่อพลาดโอกาสของกุศลมากขึ้นๆ ก็เป็นการเพิ่มอกุศลให้มากขึ้น เป็นเหตุให้เป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยอกุศล ซึ่งเป็นโทษอย่างเดียว เท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมเพื่อให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลขัดเกลาละคลายอกุศลที่มีมากเป็นอย่างยิ่ง เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่จะอุปการะเกื้อกูลนำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล ที่ดีงาม ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยอกุศล ทีละเล็กทีละน้อย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ