[คำที่ ๓๗๘] สาวชฺช

 
Sudhipong.U
วันที่  22 พ.ย. 2561
หมายเลข  32498
อ่าน  324

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สาวชฺช

คำว่า สาวชฺช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สา - วัด - ชะ] มาจากคำว่า สา (เป็นไปกับ, มี) กับคำว่า วชฺช (โทษ) รวมกันเป็น สาวชฺช แปลว่า ธรรมที่มีโทษ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหมด เพราะอกุศลทั้งหมด หรือ ความชั่ว สิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ไม่เป็นประโยชน์เลย มีแต่เป็นโทษ นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน เท่านั้น

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงความหมายของคำว่า สาวชฺช ไว้ดังนี้ คือ

“บทว่า สาวชฺชญฺจ ความว่า ธรรมมีโทษ คือ อกุศล”


สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น จะเปลี่ยนสภาพธรรมอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ เช่น เปลี่ยนเห็นให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้ เปลี่ยนความดีให้เป็นความชั่วไม่ได้ เปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดีไม่ได้ เป็นต้น นี้คือ ความเป็นจริง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย สิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นธรรม นั้น มีความหลากหลายมาก แต่เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรม มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรม (จิต สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์, เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต, พระนิพพาน สภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส ไม่เกิดไม่ดับ) และ รูปธรรม (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) สิ่งที่มีจริงเหล่านี้ ทรงตรัสรู้โดยบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาแสดงธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลกเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีการใช้คำเพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าพระองค์ตรัสถึงสิ่งใด เพื่อความเข้าใจของผู้ฟังอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งถ้ากล่าวถึงธรรมมีโทษ ก็ต้องมุ่งหมายถึงกุศลธรรม เท่านั้น อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่นำประโยชน์อะไรมาให้เลย อกุศลธรรมก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กุศลธรรมที่เคยได้สะสมมา ก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ และ ถ้าโกรธมาก มีกำลังมากขึ้น ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมความโกรธมาแล้ว, เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะกิจหน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้องต้องการ ถ้าไม่ได้ในทางที่ชอบ ก็แสวงหาในทางที่ผิด ตามความต้องข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะ คือ ความไม่พอใจ ตามมาอีก แต่เมื่อได้มาตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องรักษาไว้อย่างดี กลัวสูญหาย ไม่อยากพลัดพรากไป เป็นเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีโทษ โดยตลอด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย โดยมีรากลึก คือ ความไม่รู้ เพราะเหตุว่าอกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดเพราะความไม่รู้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่จะเป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุดในชีวิต ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา เห็นคุณค่าของพระธรรม ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะอกุศลของใคร ใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากอาศัยความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ เพราะถ้าไม่เริ่มขัดเขลา นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น เป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากความเป็นผู้ไม่มีโทษ เพราะบุคคลผู้ไม่มีโทษ กล่าวคือ ไม่มีอกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ก็คือ พระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ ไม่มีอกุศลธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย กาย วาจา ใจ ไม่เป็นไปกับด้วยโทษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้นแล้วนั่นเอง ดังนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย เพราะความเข้าใจพระธรรมจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เว้นจากธรรมที่มีโทษ คือ อกุศลธรรมทั้งหลายได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จะนำพาไปในทางที่ผิด

ถ้าเห็นประโยชน์ของพระธรรม ฟังพระธรรม ก็เป็นผู้ที่กำลังเริ่มต้นในการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งหนทางที่จะเดินต่อไปอีกยาวไกลมาก เพราะความลึกซึ้งของธรรม แต่ว่า ถ้าไม่เริ่มเลย ก็จะไม่มีวันถึง เพราะฉะนั้น ถ้ามีการเริ่มต้นในหนทางที่ถูกต้องเท่าที่มีเหตุปัจจัยที่จะเป็นไปได้ในแต่ละชีวิต ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้เริ่มสะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดหนึ่งขณะที่มีค่า คือ ขณะที่ได้เข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ได้เลย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ