[คำที่ ๓๘๒] ธมฺมครุ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมครุ”
คำว่า ธมฺมครุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ – มะ –คะ - รุ] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับคำว่า ครุ (กระทำให้หนัก,เป็นที่เคารพ) รวมกันเป็น ธมฺมครุ แปลว่า ผู้มีพระธรรมเป็นที่เคารพ, ผู้เคารพธรรม, ผู้กระทำพระธรรมให้หนักคือให้เป็นที่เคารพ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ตั้งใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาด้วยความเคารพ ไม่ประมาทพระธรรม ว่า ง่าย ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นคำจริงทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บุคคลผู้เคารพในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้ความสำคัญกับพระธรรม ย่อมเป็นผู้มีความเจริญงอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ดังข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตร-นิกาย จตุกกนิบาต ปฐมโกธสูตร ว่า
“ภิกษุ ผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ท่าน หนักในลาภและสักการะ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใด หนักในพระสัทธรรมแล้ว และกำลังหนักในพระสัทธรรมอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมงอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว”
ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค สัทธัมมปฏิรูปกสูตร แสดงถึงลักษณะของผู้ที่ไม่เคารพในพระธรรม ซึ่งไม่ควรเลยที่จะเป็นอย่างนี้ ดังนี้ คือ
“ภิกษุใด เมื่อเขาประกาศเวลาฟังธรรม อันภิกษุหนุ่มและสามเณรนั่งห้อมล้อม หรือ กำลังทำนวกรรม (การงาน) เป็นต้น อย่างอื่น นั่งหลับในโรงฟังธรรม หรือ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน นั่งคุยเรื่องอื่น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระธรรม”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำที่พระองค์ตรัส เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย บุคคลผู้ที่ฟัง ศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบเท่านั้น จึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง เหมือนอย่างบุคคลผู้ที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาล ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ หรือ ถ้ายังไม่ได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าจนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญบริบูรณ์ในที่สุด
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม นั้น เป็นโอกาสที่หายากในชีวิต เป็นการยากมากที่จะได้ฟัง และยากที่จะเข้าใจด้วย เพราะพระธรรมละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เมื่อมีโอกาสแล้ว ได้พบพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพจริงๆ
ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ย่อมเป็นการฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังด้วยความนอบน้อม เห็นคุณค่าและพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ด้วยความละเอียดรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งสภาพจิตในขณะที่มีความเคารพในพระธรรม ย่อมเป็นสภาพจิตที่ดีงาม กาย วาจา ก็สงบ คล้อยไปตามสภาพจิตที่ดีงาม ซึ่งจะต่างจากขณะที่ฟังด้วยความไม่เคารพ กล่าวคือ ถ้าฟังโดยไม่เคารพ ในขณะที่ฟัง ย่อมคิดเรื่องอื่นบ้าง มีจิตฟุ้งซ่านด้วยอกุศล หรือมีกิริยาอาการไม่เหมาะสมคึกคะนองในขณะที่ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรโดยประการทั้งปวง
เป็นที่น่าพิจารณาว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงมีความเคารพในพระธรรม ทั้งในขณะที่ทรงแสดงและในขณะที่ทรงฟังพระธรรมที่พระสาวกกำลังแสดงด้วย ดังข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ รถวินีตสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระนันทะ ว่า “ดูกร นันทะ ถ้าเธอพึงอาจแสดง (ธรรม) อยู่ได้ถึงกัปป์ เราก็จะยืนฟังอยู่ตลอดกัปป์” แสดงถึงความเคารพในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแสดงให้เห็นถึงความประเสริฐยิ่งของพระธรรมว่าควรฟัง ควรศึกษาอย่างแท้จริง
พุทธบริษัทที่จะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟัง การศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบและมีความจริงใจในการศึกษาจริงๆ ว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นที่เป็นลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ จะเห็นได้อย่างแท้จริงว่า ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปรมัตถธรรม เป็นต้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด และที่สำคัญ ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน อยู่กับธรรมตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก โกรธ ไม่พอใจขุ่นเคืองใจ ติดข้องยินดีพอใจ ริษยา หรือ ขณะที่มีจิตใจดี อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่น เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเพียงชั่วขณะเท่านั้นเอง และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ย่อมไม่เข้าใจ จึงมีความหลงยึดถือว่า เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่โกรธ เป็นเราที่ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น เป็นเราโดยตลอดเพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม ดังนั้น จึงต้องเริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเมื่อฟัง เมื่อศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ
พระธรรมที่สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีค่ามาก มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกทั้งปวง ถ้าพุทธบริษัทเคารพในพระธรรมจริงๆ ขณะฟังพระธรรม ก็ฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้น คำที่ได้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อความใดๆ ทั้งหมด ก็อยู่ที่ฟังเพื่อเข้าใจ ปัญญาที่เข้าใจแล้วก็จะค่อยๆ นำไปสู่ความละเอียดยิ่งขึ้นของธรรมที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งปวงก็เพราะได้เข้าใจขึ้นจากการฟังการศึกษาพระธรรมด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง ชีวิตสั้นมาก จะจากโลกนี้ไปได้ทุกขณะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือ ได้มีปัญญาความเข้าใจถูก สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญบริบูรณ์ในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่ง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ