[คำที่ ๓๘๓] จุติจิตฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ธ.ค. 2561
หมายเลข  32503
อ่าน  362

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ จุติจิตฺต

คำว่า จุติจิตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จุ - ติ - จิด - ตะ] มาจากคำว่า จุติ (เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้,สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้) กับคำว่า จิตฺต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ [อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้]) รวมกันเป็น จุติจิตฺต แปลว่า จิตที่ทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ แปลทับศัพท์เป็น จุติจิต แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมประเภทหนึ่ง คือจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายในชาตินี้ ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เรียกว่า ตาย หรือ สิ้นชีวิต

ชีวิตของบุคคลผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้แล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปคือปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที เกิดเป็นบุคคลใหม่ในภพใหม่ต่อไป (ตราบใดที่ยังมีกิเลส) ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิต ที่จะต้องถึงขณะที่จะต้องละจากโลกนี้ไปแน่นอน ดังนี้

“ไม่นานหนอ กายนี้ จักนอนทับแผ่นดิน, กายนี้ มีวิญญาณ (คือ จิต) ไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว ราวกับท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น


จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิต มีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต หลากหลายเพราะอารมณ์ต่างๆ กัน หลากหลายตามระดับขั้นของจิต เป็นต้น แต่ที่กล่าวถึง จุติจิต นั้น ก็เป็นการเรียกจิตตามกิจหน้าที่ เพราะจิตใดที่กระทำกิจจุติ คือ เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เรียกจิตนั้นว่าเป็นจุติจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แต่ในเบื้องต้นก็ขอให้ได้เข้าใจว่า เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน จะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่จะเกิดทีละขณะ ดังนั้น จุติจิต ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ใครๆ ก็ยับยังไม่ได้

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั้น เป็นสิ่งที่ได้อย่างยากแสนยาก เพราะต้องเป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีชีวิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และสุดท้ายแล้วก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น จะต้องถึงขณะที่จิตขณะสุดท้ายในชาตินี้เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ ที่เรียกว่า ตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย จะเห็นได้จริงๆ ว่า ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน คือ ไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ ชาติก่อนเกิดเป็นอะไร, ต่อจากนั้น จะไปไหน ก็ไม่ทราบ คือ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในที่ใด ภพภูมิใด ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด เป็นไปตามเหตุปัจจัย, ที่แน่ๆ ย่อมทราบว่า จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ทราบว่า จะตายตอนไหน กล่าวคือ จะตายตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนกลางคืน ก็ไม่สามารถจะทราบได้ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ขณะนี้ทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในสุคติภูมิ พ้นจากการเกิดในอบายภูมิแล้วในขณะนี้ แต่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิใด ย่อมไม่แน่ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด อาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งไปเกิดได้ง่ายมากทีเดียวสำหรับอบายภูมิ เป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วควรพิจารณาไตร่ตรองน้อมเข้ามาในตน เพราะคำสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นไปเพื่อความไม่ประมาท พระองค์ทรงเตือนให้พุทธบริษัทเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเหตุว่า ชีวิตของแต่ละคนก็ล่วงไปอย่างรวดเร็ว ก้าวไปสู่ความตายเข้าไปทุกขณะๆ ไม่ได้ยั่งยืนอะไรเลย แล้วขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่?

เกิดแล้วตาย เป็นของธรรมดา ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนมั่งมี คนยากจนเข็ญใจ เป็นต้น ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็มีแต่ความไม่รู้ มีแต่ความเห็นแก่ตัวและมีแต่การทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ทำแต่สิ่งที่เป็นโทษมากมาย แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะไม่ประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะอกุศลแม้เล็กน้อย ก็มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย และไม่ประมาทในการเจริญกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ด้วย เพราะรู้ว่าโอกาสที่จะเจริญกุศลหรือทำความดี นั้น หายาก โอกาสที่จะทำความดีเมื่อไหร่ ถ้าไม่ทำ ขณะนั้น ก็เป็นอกุศล ก็สะสมอกุศลต่อไป จึงไม่ควรประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เพียงขณะหนึ่งที่ทำความดี ขณะนั้นก็สะสมที่จะเป็นคนดีในลักษณะนั้นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ไหนๆ ก็จะตายอยู่แล้วไม่วันใดก็วันหนึ่ง การเป็นคนดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เป็นคนดีขึ้นทุกๆ ขณะ ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง

ความดีที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาความดีทั้งหลาย คือ ความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญคือการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เห็นคุณค่าในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะใดที่ได้เข้าใจธรรม ความเข้าใจธรรม นั้น ก็จะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตเป็นที่พึ่งต่อไป เป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป กล่าวได้ว่า เป็นการมีชีวิตที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก่อนที่จิตขณะสุดท้ายในชาตินี้จะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ