[คำที่ ๓๘๖] จิตฺตุปฺปาท
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จิตฺตุปฺปาท”
คำว่า จิตฺตุปฺปาท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิด - ตุบ - ปา - ทะ] มาจากคำว่า จิตฺต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ [อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้]) กับคำว่า อุปฺปาท (เกิดขึ้น) รวมกันเป็น จิตฺตุปฺปาท เขียนเป็นไทยได้ว่า จิตตุปบาท หรือ จิตตุปปาทะ แปลว่า ความเกิดขึ้นแห่งจิต เป็นการแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจิต เท่านั้น แต่จะมีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต เกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของคำว่า จิตฺตุปฺปาท พร้อมทั้งข้ออุปมาเปรียบเทียบ ดังนี้ คือ
“ที่ชื่อว่า อุปฺปาโท เพราะอรรถ (ความหมาย) ว่า เกิดขึ้น, อุปปาทะ คือ จิตนั่นเอง ชื่อว่า จิตตุปปาทะ ก็คำว่า จิตตุปปาทะ นี้ เป็นประธานของเทศนา เหมือนอย่างที่เขากล่าวว่า พระราชาเสด็จมาแล้ว ดังนี้ ย่อมเป็นอันกล่าวถึงการมาแม้ของอำมาตย์เป็นต้น ฉันใด เมื่อพระองค์ ตรัสว่า จิตตุปบาท ดังนี้ แม้สัมปยุตตธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกัน) ทั้งหลาย ก็เป็นอันตรัสแล้วด้วยจิตตุปบาทเหล่านั้น ฉันนั้น เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ด้วยศัพท์ว่า จิตตุปบาท ในที่ทั้งหมด พึงทราบว่า ทรงถือเอาจิต พร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของธรรม ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา รวมถึงสภาพธรรมที่มีโดยไม่ขาดเลย คือ จิต, จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) , เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ยังมีโลภะ ความติดข้องต้องการ ยังมีอวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานอยู่เพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต (และสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ เจตสิก) และที่สำคัญ จิตไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีที่เกิด มีอารมณ์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง
ในแต่ละชาติ จิตขณะแรกคือ ปฏิสนธิจิต ซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อๆ ไปเกิดขึ้นเป็นไป จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิต จิตแต่ละขณะย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน
จิต เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ชั่วขณะสั้นๆ นั้น มีปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ ต้องมีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีอารมณ์ คือ สี ซึ่งเกิดก่อนแล้ว และมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น, จิต เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับหรือทำให้เกิดขึ้นได้เลย
จิต เป็นธรรมที่มีจริง เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียว คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จิตมีความหลากหลาย เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เช่น ถ้าโลภะ เกิดกับจิต จิตนั้น ก็เป็นอกุศลจิต เพราะมีอกุศลเจตสิก คือ โลภะ ความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเจตสิกฝ่ายดี คือ ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในความดี) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) หรือ แม้กระทั่ง อโมหะ คือ ปัญญา เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น เป็นการพักจากอกุศลชั่วขณะที่จิตเป็นกุศล
แม้ว่าจิตจะเป็นใหญ่ เป็นประธานในการทำกิจรู้อารมณ์ แต่จะเกิดโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ เช่น เพราะถ้าผัสสะไม่กระทบอารมณ์ สัญญาไม่จำอารมณ์ เจตนาไม่ขวนขวายจัดแจงในอารมณ์ หรือมนสิการไม่สนใจในอารมณ์ เป็นต้น จิตก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพระราชาเมื่อจะเสด็จไปไหน ก็มิได้เสด็จไปพระองค์เดียว แต่ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร พระราชาทรงเป็นใหญ่ เป็นประธานของหมู่อำมาตย์ราชบริพาร ทั้งหมดทั้งปวงนั้นแสดงถึงความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ขณะนี้ทุกๆ วันกำลังดำเนินไปใกล้ความตายเข้าไปทุกทีๆ ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะถึงวันนั้นเมื่อใด เมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ก็จักทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้บนแผ่นดิน สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ความเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ เป็นต้น แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ คือ กุศลและอกุศล ไม่สูญหายไปไหน เป็นสภาพธรรมที่จะติดตามไปในชาติต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าเป็นขณะที่สำคัญ เป็นขณะที่ประเสริฐ แล้ว ก็ต้องเป็นขณะที่เป็นกุศล เท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี ว่า การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นโอกาสที่ประเสริฐที่สามารถทำความดีได้ทุกโอกาส และไม่ควรประมาทในความดีแม้เพียงเล็กน้อยด้วย เพราะขณะที่กุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ และสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือ ความดีที่เป็นความเข้าใจพระธรรม จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้สะสมความดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะในที่สุดแล้วทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน อย่าคิดว่าอีกนาน เพราะอาจจะไม่นานเลย อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ หรือ เดือนนี้ก็ได้ ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ