[คำที่ ๓๙o] อญฺญาณจริยา
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อญฺญาณจริยา”
คำว่า อญฺญาณจริยา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อัน - ยา - นะ - จะ - ริ - ยา] มาจากคำว่า อญฺญาณ (ความไม่รู้) กับคำว่า จริยา (ความประพฤติเป็นไป) รวมกันเป็น อญฺญาณจริยา เขียนเป็นไทยได้ว่า อัญญาณจริยา แปลว่า ความประพฤติเป็นไปด้วยความไม่รู้ ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมทั้งหมด
ข้อความบางตอนใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของ อัญญาณจริยา ไว้ ดังนี้ ว่า
คำว่า อัญญาณจริยา ความว่า ชื่อว่า อัญญาณจริยา เพราะอรรถว่าอะไร?
ชื่อว่า อัญญาณจริยา เพราะอรรถว่า ประพฤติมีราคะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) ประพฤติมีโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ประพฤติมีโมหะ (ความหลงความไม่รู้) ประพฤติมีมานะ (ความสำคัญตน) ประพฤติมีทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ประพฤติมีอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) ประพฤติมีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
และ อีกข้อความหนึ่งใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เช่นกัน มีดังนี้คือ
“อัญญาณจริยา ด้วยสามารถอกุศลจิตเกิดขึ้น ๑๒ ดวง มีหน้าที่ไม่รู้”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดตามความเป็นจริง ด้วยพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่อัญญาณจริยา ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายอกุศลทั้งหมด เพราะอัญญาณจริยา คือ ความประพฤติเป็นไปด้วยความไม่รู้ ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศล นั่นเอง ทุกขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ไม่ปราศจากความไม่รู้
ความไม่รู้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพที่ไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ หากไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า อะไรคือธรรม? ธรรมอยู่ในขณะไหน? ก็จะไม่เข้าใจความจริงของโลกว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น, เมื่อไม่เข้าใจความจริง ย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมที่มีในขณะนี้ กล่าวคือไม่รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม จึงหลงยึดถือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เป็นต้น ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด, เมื่อถูกความไม่รู้ครอบงำ ย่อมทำให้ไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริง แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ก็ไม่รู้ และก็จะสะสมความไม่รู้อย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
เพราะมีความไม่รู้ เป็นเหตุ จึงทำให้มีการทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย มีกายทุจริตเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และ เมื่อผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น กล่าวได้เลยว่า เพราะไม่รู้ จึงทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เป็นการตัดโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลธรรม ในชีวิตประจำวัน
ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความไม่รู้อย่างสิ้นเชิง ปัญญา เป็นเหตุให้ความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้ คือ กุศลธรรมเจริญจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญา หรือ วิชชา จึงเป็นธรรมที่นำไปสู่คุณความดีทั้งปวงอย่างแท้จริง ทำให้เว้นจากสิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ปัญญาจะไม่นำพาไปสู่ทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย
เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่าสาเหตุที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก็เพราะยังมีความไม่รู้อยู่นั่นเอง
เกิดมาแล้วทุกภพทุกชาติ ผ่านมาแล้วไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ไม่มีใครไปยับยั้งความเป็นไปของธรรมได้เลย จะไม่ให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย การคิดนึก เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ แต่ที่สำคัญ ก็คือ ไม่รู้ความจริง ซึ่งเป็นอัญญาณจริยา คือ ความประพฤติเป็นไปของความไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมเลยและเป็นอย่างนี้มานานเท่าไหร่แล้วในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะมีการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้นแล้ว หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลายให้เบาบางลงได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะ (คำจริง) ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะที่เข้าใจถูกเห็นถูกก็เริ่มละคลายความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้น หนทางที่จะละความไม่รู้ได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น หนทางอื่นนอกจากนี้ไม่มี ไปทำอย่างอื่นด้วยความไม่รู้ ด้วยความอยาก ด้วยความหวังความต้องการ ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่เป็นหนทางที่เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มความอยาก และเพิ่มความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นโทษเท่านั้น เป็นโทษทั้งในชาตินี้และสะสมเป็นโทษในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ