[คำที่ ๓๙๑] สํเวค

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ก.พ. 2562
หมายเลข  32511
อ่าน  672

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สํเวค”

คำว่า สํเวค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - เว - คะ ] มาจากคำว่า สํ (ด้วยดี) กับคำว่า วิค (รู้) แปลง อิ เป็น เอ รวมกันเป็น สํเวค เขียนเป็นไทยได้ว่า สังเวคะ แปลตามภาษาบาลีว่า รู้ด้วยดี ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงคำว่า สังเวคะ (บางแห่งใช้คำว่า สังเวช ก็มีความหมายเดียวกัน) แล้ว หมายถึงปัญญา (ตรงตามศัพท์ที่แปลว่า รู้ด้วยดี) แต่แปลเป็นไทยแล้วนิยมแปลว่า ความสลดใจ ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ จึงจะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ เพราะความสลดใจ เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด ดังข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

“บทว่า ความสลดใจ นั้น มีคำอธิบายว่า ญาณอันเห็นชาติโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นชราโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นพยาธิโดยความเป็นภัย ญาณอันเห็นมรณะโดยความเป็นภัย

บทว่า ความพยายามโดยแยบคาย ของบุคคลผู้มีใจสลดแล้ว คือ เป็นผู้ที่เห็นโทษภัยของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ผู้นั้นย่อมยังฉันทะให้เกิด ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตไว้ ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อละกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่จืดจาง เพื่อความเพิ่มพูน เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งการที่จะมีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ต้องอาศัยแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว บุคคลที่ผู้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เป็นการเข้าใจธรรมจากแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่คำว่า สังเวคะ หรือ ความสลดใจ นั้น ก็มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ทำให้เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท

คำว่า สังเวคะ หรือ ความสลดใจ นั้น ไม่ใช่ความหดหู่ใจ ไม่ใช่ความเศร้าโศกเสียใจ นี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องฟังต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะเหตุว่า สังเวคะ เป็นชื่อของปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ที่เห็นโทษภัยของอกุศล เห็นโทษภัยของสังสารวัฏฏ์ตามความเป็นจริง ผู้ที่เกิดสลดใจ จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยมีที่ตั้งแห่งความสลดใจ กล่าวคือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และ ความทุกข์ความเดือดร้อนในอบายภูมิ ความทุกข์ความเดือดร้อนในอดีตชาติที่ผ่านมาๆ และ ยังจะต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไปในอนาคตตราบใดที่ยังมีการเกิดอันเนื่องมาจากกิเลสที่ยังดับไม่ได้ หรือ แม้แต่ในการดำรงชีวิตในปัจจุบันการแสวงหาอาหารก็เต็มไปด้วยทุกข์ บางคนถึงกับทำอกุศลกรรมเพราะเหตุแห่งอาหาร ก็มี ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะถึงความสลดใจเพราะขณะที่สลดใจ นั้น มีปัญญาเกิดร่วมด้วย มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง บุคคลผู้ที่มีปัญญา ย่อมเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และตราบใดที่ยังมีกิเลส ถ้าประมาทกำลังของกิเลส ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมายแสนสาหัส หรือ แม้เห็นคนที่มีกิเลส กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นต้น ก็พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะกิเลสนั่นเอง บุคคลเหล่านี้จึงมีพฤติกรรมแบบนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีในชีวิตประจำวันให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสลดใจ ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของกุศลธรรม เป็นการถอยกลับจากอกุศล ไม่ใช่การเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะขณะที่เศร้าโศกเสียใจ เป็นอกุศล เป็นสภาพจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส

 

ชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) พยาธิ (ความเจ็บไข้ได้ป่วย) และ มรณะ (ความตาย) ควรที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสลดใจ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า มีชาติเกิดขึ้นขณะใด สามารถพิจารณาได้เลยว่า ย่อมนำมาซึ่งชรา พยาธิ และ มรณะอย่างแน่นอน บุคคลที่เกิดมาแล้ว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดมาแล้ว ที่จะไม่เก่าคร่ำคร่า ไม่ชราลง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในที่สุดก็จะต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา

เกิดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วก็เกิดอีก ไม่รู้จบ เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญา ไม่มีใครที่จะไปหยุดยั้งการเกิดได้เลย ชาตินี้ จึงควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องดีกว่าที่จะเกิดมาแล้วไม่รู้ ความไม่รู้อะไรเหมือนคนตาบอดที่มืดสนิท จากโลกนี้ไป ไปไหนก็ไม่รู้อีก เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ยังมากไปด้วยความไม่รู้อีก น่าสลดใจจริงๆ แต่ต้องเป็นปัญญา ที่เห็นตามความเป็นจริง ว่า การเกิดแล้วไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ได้ แต่ถ้าได้มีความเข้าใจธรรม ความเข้าใจนี้แหละก็จะติดตามอยู่ในจิตที่มีโอกาสที่จะได้รู้ความจริง เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ความจริง เกิดมานานเท่าไหร่แล้ว แล้วก็จะเกิดต่อไปโดยไม่มีใครสามารถที่จะหยุดยั้งการเกิดได้เลย

เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดียิ่ง ที่จะทำให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อย ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และ ไม่ละทิ้งโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิตของแต่ละคน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ