[คำที่ ๓๙๓] กลฺยาณปุคฺคล

 
Sudhipong.U
วันที่  7 มี.ค. 2562
หมายเลข  32513
อ่าน  318

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กลฺยาณปุคฺคล”

คำว่า กลฺยาณปุคฺคล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - ละ - ยา - นะ - ปุก - คะ - ละ] มาจากคำว่า กลฺยาณ (ดีงาม) กับคำว่า ปุคฺคล (บุคคล) รวมกันเป็น กลฺยาณปุคฺคล เขียนเป็นไทยได้ว่า กัลยาณบุคคล แปลว่า บุคคลผู้เป็นคนดี เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เพราะมีธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่า เป็นบุคคลผู้เป็นคนดี เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป นั่นเอง

ข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ แสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้เป็นคนดี ไว้ดังนี้ คือ

“กัลยาณบุคคล (บุคคลผู้เป็นคนดี) เป็นไฉน?

บุคคล บางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม บุคคลนี้ เรียกว่า ผู้เป็นคนดี”


ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในสุคติภูมินั้น มีความเสมอกันโดยความที่มีนามธรรม และรูปธรรม เกิดขึ้นเป็นไป กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) แต่ที่แตกต่างกัน คือ การสะสม และการได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เป็นคนชั่ว ขาดความละอาย ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ขาดความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อผู้อื่น เป็นต้น นั้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นธรรม คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน , คนที่เป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ก็มีทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ ธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน สภาพธรรมที่จะคอยอุปการะเกื้อกูลให้ความดีเจริญยิ่งขึ้น คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก

สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ในฐานะที่แต่ละคนมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำว่า พระรัตนตรัย ซึ่งหมายความถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ เป็นคำที่แม้บุคคลในครั้งเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นคำที่ยากยิ่งที่จะได้ฟัง เพราะว่าไม่ใช่ผู้เผินที่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เก็บแต่เพียงคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยยังไม่เห็นพระคุณที่แท้จริงที่จะได้พระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงแสดงความจริงกับทุกคน เมื่อกล่าวว่า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อคำที่กล่าวด้วย และพระรัตนตรัยที่จะเป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่ว่าพึ่งให้เรารอดชีวิตหรือว่ารอดพ้นจากการได้รับผลของกรรมชั่วที่ได้ทำแล้ว แต่เป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูก เข้าใจในการที่เกิดมาเป็นบุคคลนี้ จากไม่เคยเป็นคนนี้มาก่อนแล้วก็เกิดมาเป็นคนนี้ แล้วอีกไม่นานทุกคนก็จะหายไปจากโลกนี้ ใครจะไปก่อน ใครจะไปทีหลัง ช้าหรือเร็วนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าคิด ก็คือ จากไม่เคยเป็นคนนี้ แล้วก็มาเป็นคนนี้ แล้วก็จะหมดสิ้นการเป็นบุคคลนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด แต่ระหว่างที่ยังเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ทำอะไร?

ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุและผล ก็จะรู้ได้ ว่า มีสิ่งที่มีจริง ๒ ฝ่าย คือ ความจริงที่เป็น “ความดี” อย่างหนึ่ง และ ความจริงที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม คือ “ความชั่ว” อีกอย่างหนึ่ง ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคนที่เกิดมาก็มีทั้งความดีและความชั่ว ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และไม่ปะปนกันด้วย แต่ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจในเหตุและผล ก็ยากที่จะพ้นจากความชั่วได้ ก็ยังเป็นคนไม่ดีอยู่นั่นเอง

ตราบใดที่เป็นคนไม่ดี หมายความว่า มีแต่อกุศลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ทั้งสิ้น เช่น โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) เป็นต้น ทั้งหมดที่เป็นอกุศลขณะใด ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้เลย กลับเพิ่มขึ้นทับถมขึ้นยากแก่การที่จะรู้ความจริงได้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็เริ่มเห็นคุณของบารมี คือ คุณความดีซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปโดยที่ว่าขณะนั้นอกุศลไม่เกิด แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มคุณความดีขึ้น ก็ย่อมสามารถที่จะเป็นทางให้ละความไม่รู้และความไม่ดีทั้งหลายได้ เพราะเหตุว่าทั้งสองอย่างนี้เกิดรวมกันไม่ได้ กล่าวคือ อกุศลกับกุศลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ การเห็นภัยของอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้กุศลเกิดและเป็นผู้ไม่ประมาทด้วย เพราะไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการเป็นคนดี แต่ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ (จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์) ที่ว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ นั้น ก็เพราะเหตุว่ากิเลสมีมากที่สะสมเป็นอนุสัย (นอนเนื่องอยู่ในจิต) ถ้ายังไม่สามารถที่จะดับอนุสัยกิเลส (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต) ได้ กิเลสก็ยังเกิดได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ภพภูมิไหน เกิดเป็นอะไร อกุศลที่สะสมไว้ก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในความดีแม้เพียงเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ สะสมไปโดยความไม่ประมาท เพราะเหตุว่าประมาทเมื่อใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ทุกคนเมื่อได้เกิดมาเป็นคนนี้แล้วก็จะจากโลกนี้ไปอีกไม่นาน ก็ควรที่จะเป็นผู้ที่มั่นคงในคุณความดี ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละคน ความดี มีมากมีน้อยต่างกัน แต่ว่าความดีจริงๆ ก็ต้องอาศัยการที่ได้เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งด้วย เพราะว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมให้คนเป็นคนชั่ว หรือ เป็นคนเลว แต่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังเอง ที่จะต้องเป็นผู้ที่มั่นคงหนักแน่นในการที่จะเป็นคนดี และที่จะเป็นคนดียิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา อย่างแท้จริง เพื่อความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ซึ่งจะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ทำให้เป็นคนคนดี เป็นกัลยาณบุคคล และผลของการอบรมเจริญปัญญา สูงสุด คือ สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของปัญญาได้ว่า สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นจากใจ เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต คือ การมีโอกาสได้สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก ความดีและความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ