[คำที่ ๓๙๔] ปตฺตานุโมทนามย

 
Sudhipong.U
วันที่  14 มี.ค. 2562
หมายเลข  32514
อ่าน  522

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปตฺตานุโมทนามย”

คำว่า ปตฺตานุโมทนามย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัด - ตา - นุ - โม - ทะ - นา - มะ - ยะ] มาจากคำว่า ปตฺติ (ส่วนบุญ,ส่วนที่เป็นความดี) อนุโมทนา (ชื่นชมยินดี) กับคำว่าย (สำเร็จ) รวมกันเป็น ปตฺตานุโมทนามย เขียนเป็นไทยได้ว่า ปัตตานุโมทนามัย แปลว่า บุญที่สำเร็จด้วยการชื่นชมยินดีในส่วนที่เป็นบุญ คือ ส่วนที่เป็นความดี ของผู้อื่น ขณะที่ชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่น นั้น ก็เป็นบุญของผู้ที่อนุโมทนา และเมื่อเป็นผู้ที่ชื่นชมในคุณความดีแล้ว มีหรือที่จะไม่ทำความดี

ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของการอนุโมทนาในส่วนบุญของผู้อื่น ดังนี้ คือ

“บุญญกิริยาวัตถุ คือ การพลอยอนุโมทนาบุญ พึงทราบ ด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรือ อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำแล้ว ทั้งสิ้น ว่า สาธุ (ดีแล้ว)”


ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นสั้นแสนสั้น เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้แม้แต่คนเดียว แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และแต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่หวนกลับมาได้อีก นี้คือความเป็นไปของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลให้มีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นั้น เป็นสิ่งที่ได้โดยยากแสนยากในสังสารวัฏฏ์ เมื่อเทียบกับการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกๆ วัน ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอว่า ชีวิตอาจจะอยู่ไม่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะสิ้นชีวิตก่อนถึงวันพรุ่งนี้ก็ได้ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรม ก็ควรเห็นประโยชน์ที่จะฟัง สะสมปัญญาในทันที มีโอกาสที่จะได้สะสมความดีประการต่างๆ ก็สะสมทันที เป็นการเติมความดีลงในจิตของตนเองทุกๆ วัน เพื่อชำระล้างอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะถ้าไม่คอยเติมความดีแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

เป็นความจริงที่ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ขณะใดปราศจากโลภะ (ความติดข้องต้องการ) ปราศจากโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ปราศจากโมหะ (ความหลง ความไม่รู้ความจริง) เป็นต้น ขณะนั้นคือบุญ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม สำคัญอยู่ที่ว่ากุศลจิตเกิดหรือไม่ในขณะนั้น

บุญ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากกิเลสทั้งหลาย ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด เพราะโดยปกติแล้วจิตสกปรกด้วยเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ กิเลสประการต่างๆ มากมาย จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง

บุญ ย่อมเกิดขึ้น เจริญขึ้นในขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลหรือตรึกไปด้วยอกุศลวิตกประการต่างๆ เป็นไปกับความติดข้องต้องการหรือเป็นไปกับความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ รวมไปถึงในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นบุญไม่เกิด และไม่ใช่บุญด้วย (ในขณะที่นอนหลับ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เกิดขึ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ เพียงแต่เป็นจิตประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทำกิจรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้เท่านั้น บุญจึงไม่เกิดในขณะที่นอนหลับ) แต่เมื่อใดที่สติเกิดระลึกได้เป็นไปในความดีประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรม และการน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ในเรื่องความสงบของจิต คือ สงบจากอกุศลและในการอบรมเจริญปัญญา เมื่อนั้น บุญย่อมเกิดขึ้น ย่อมเจริญขึ้น

บุญประการหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน คือ การชื่นชมยินดีอนุโมทนาในความดีหรือในบุญของบุคคลอื่น ความดี เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม น่ายินดี น่าอนุโมทนา เพราะความดี ยากที่จะกระทำได้ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นการกระทำดีเพียงเล็กน้อย การช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย หรือการสละให้เพียงเล็กน้อย ถ้าหากว่าขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว ทำไม่ได้เลย จะช่วยใครก็ช่วยไม่ได้ จะให้อะไรแก่ใครแม้เพียงเล็กน้อยก็ให้ไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ขณะใดก็ตามที่บุญหรือความดีสามารถจะเกิดขึ้นได้เท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชม ว่า คนนั้นได้ทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะที่ชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นกุศลที่บุคคลอื่นได้กระทำ แม้เราไม่ได้กระทำเอง จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล บุญหรือความดี ก็เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เราจะไปให้ใครอนุโมทนาได้ เพราะตามความเป็นจริงแล้วกุศลจิตที่เห็นประโยชน์ของบุญ พอได้ฟังเรื่องของบุญ ไม่ว่าจะเป็นของใคร ก็สามารถเกื้อกูลให้เกิดการอนุโมทนายินดีด้วยในขณะนั้น และที่สำคัญการอนุโมทนาในความดีของผู้อื่นนั้น เป็นความประพฤติของคนดีทั้งหลาย ซึ่งเป็นการขัดเกลาละคลายอกุศลของตนเอง สังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก ถ้าไม่สะสมความดี ถ้าไม่เห็นคุณของความดีและไม่เห็นโทษของความไม่ดีทั้งหลายแล้วจะไปถึงฝั่งแห่งการดับกิเลสได้อย่างไร

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง เมื่อมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ปัญญานี้เองที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะนำพาไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ควรทำสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็คือจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญในชีวิตที่จะทำให้ตนเองได้เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ คือ ปัญญา ที่จะคอยอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ