[คำที่ ๓๙๘] กลฺยาณปุถุชฺชน

 
Sudhipong.U
วันที่  11 เม.ย. 2562
หมายเลข  32518
อ่าน  668

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กลฺยาณปุถุชฺชน”

คำว่า กลฺยาณปุถุชฺชน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - ละ - ยา - นะ - ปุ - ถุด - ชะ - นะ] มาจากคำว่า กลฺยาณ (ดีงาม) ปุถุ (หนา) กับคำว่า ชน (ชน,บุคคล) แล้วซ้อน ชฺ จึงรวมกันเป็น กลฺยาณปุถุชฺชน แปลว่า ปุถุชนที่ดีงาม หรือแปลทับศัพท์เป็น กัลยาณปุถุชน ซึ่งก็คือ ชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส แต่ก็ยังเป็นคนดี เป็นผู้มีธรรมอันงาม เพราะโดยปกติของความเป็นปุถุชน แม้จะมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไป แต่ก็ยังเป็นผู้เห็นประโยชน์ของคุณความดีและเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ในจิตใจของตนเอง ดังข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ที่แสดงถึงความเป็นจริงของกัลยาณปุถุชนซึ่งต่างจากอันธปุถุชนอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ คือ

“ปุถุชนมี ๒ พวก คือ อันธปุถุชน (ปุถุชนผู้มืดบอด) ๑ กัลยาณปุถุชน (ปุถุชนที่ดีงาม) ๑

ในปุถุชน ๒ พวกนั้น บุคคลผู้ไม่มีการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงจำ และการพิจารณาในขันธ์ ธาตุ และอายตนะเป็นต้น นี้ชื่อว่า อันธปุถุชน บุคคลผู้มีกิจเหล่านั้น ชื่อว่า กัลยาณปุถุชน”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ โดยตลอด แม้ว่าจะทรงแสดงโดยปรารภถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง นั้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไป จึงมีการหมายรู้กันว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้นๆ ซึ่งพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในการสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา เพื่อความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติของความเป็นปุถุชนแล้ว เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมาก เพราะเหตุว่าปุถุชน คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังเต็มไปด้วยกิเลส เป็นผู้มีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเลย เมื่อได้เหตุปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตนเลย ใครก็ตามที่มีความประพฤติที่ไม่ดี แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพราะธรรมฝ่ายไม่ดีต่างหาก ที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าจะเป็นปุถุชนผู้ไม่ได้สะสมกุศล ไม่ได้สะสมปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่มีคุณความดีอะไรเลย เป็นปุถุชนผู้มืดบอด (อันธปุถุชน) หรือว่า จะเป็นปุถุชนที่ดีงาม (กัลยาณปุถุชน) ผู้มีความจริงใจที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง ต่อไป ทั้งหมดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ถ้าเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีทางที่จะทำให้จากที่เคยเป็นผู้มีโทษมาก กล่าวคือ กาย วาจา ใจ เป็นไปกับด้วยกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็จะค่อยๆ น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ขัดเกลากิเลสมากขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ได้ เพราะเหตุว่า ปุถุชนที่ได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นคนที่ดีงามกว่าคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะมีความเข้าใจถูกมีความเห็นถูกสามารถที่จะรู้หนทางที่จะเป็นอยู่ในโลกนี้ด้วยความเป็นคนดี ไม่กระทำทุจริตกรรม สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้จนกระทั่งสามารถที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี เกื้อกูลให้ถือเอาเฉพาะสิ่งที่ควร แล้วละทิ้งสิ่งที่ไม่ควร และ จากการเป็นกัลยาณปุถุชน ที่ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาสะสมความดีประการต่างๆ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ข้ามพ้นความเป็นปุถุชนได้อย่างสิ้นเชิง กิเลสที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไกลเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูกที่ได้อาศัยพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะเหตุว่า กิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ซึ่งแต่ประมาณไม่ได้เลย จะสามารถค่อยๆ ลดละคลายลงไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงกาลเวลาที่ปัญญาคมกล้าก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้อย่างแท้จริง

บุคคลผู้ที่สนใจในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมเป็นผู้เห็นประโยชน์ของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย เรื่องของการหมดกิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เห็นประโยชน์ของสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะปัญญานี้เอง ที่จะเป็นเหตุทำให้จากที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ มากมาย สามารถดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสได้ตามลำดับ ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนได้ในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สิริพรรณ
วันที่ 18 พ.ค. 2567

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ