[คำที่ ๓๙๙] ปาปธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  18 เม.ย. 2562
หมายเลข  32519
อ่าน  320

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปาปธมฺม

คำว่า ปาปธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปา – ปะ – ดำ -มะ] มาจากคำว่า ปาป (ความชั่ว,สิ่งที่ไม่ดี, บาป) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,ธรรม) รวมกันเป็น ปาปธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า บาปธรรม หมายถึง สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่ชั่ว เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ เป็นคำจริงที่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม กล่าวคือ อกุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย มีตั้งแต่ระดับที่บางเบา จนกระทั่งล่วงเป็นทุจริตกรรม เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น

ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เทสนาสูตร แสดงความเป็นจริงของบาปธรรม ไว้ดังนี้ คือ

ชื่อว่า บาป เพราะเป็นของต่ำทราม ชื่อว่า บาป เพราะเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความเป็นจริงของ บาปธรรม ทั้งปวง ไว้ว่า ได้แก่

“อกุศลธรรม ทุกชนิด”


คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่ดี เป็นพระธรรม คือ คำสอนที่ประเสริฐ เพราะเป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง แม้สิ่งใดที่เป็นอกุศล เป็นบาปธรรม พระธรรมก็แสดงเปิดเผยให้รู้ว่าเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่มีโทษแม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ย่อมทำให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่มีปัญญาเกื้อกูลให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ

สำหรับบาปธรรม หรือ บาป หมายถึง อกุศลธรรม สภาพธรรมที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีบาป อย่างเช่นต้นไม้ไม่มีบาป เนื่องจากต้นไม้คิดไม่ได้ ต้นไม้ทำอะไรไม่ได้ ต้นไม้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ ต้นไม้ลักทรัพย์ ไม่ได้ เป็นต้น จึงไม่มีบาป บาป ต้องเป็นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี เช่น ประกอบด้วยความติดข้องต้องการ ประกอบด้วยความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา แต่ว่าสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะเหตุว่าทุกคนมีจิต แต่แม้ว่าทุกคนจะมีจิต แต่ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดก็ยังไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าที่ว่ามีจิตนั้น จิตอยู่ที่ไหน ซึ่งจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง จึงพอที่จะพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกได้ว่า จิตเห็น เป็นบาปหรือไม่? จิตเห็นเพียงเห็น เพราะฉะนั้น จิตเห็น ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต เป็นเพียงวิบากจิต เป็นผลของกรรม จึงไม่ใช่บาป แต่ว่าขณะใดที่เห็นแล้ว ชอบ ได้ยินแล้วชอบ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ เป็นบาปแล้วในขณะนั้น เพราะเหตุว่าเป็นขณะจิตที่เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้เป็นสภาพที่ติด ที่พอใจ ที่ยินดี ที่ปรารถนาในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่เป็นอกุศล ซึ่งก็คือ เป็นบาป และถ้าขณะใดที่เห็นแล้วเกิดความไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองขัดข้อง ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นบาป หรือ แม้แต่ขณะที่ไม่เข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ความไม่รู้เกิดขึ้น ก็เป็นอกุศล เป็นบาป เพราะ บาป ได้แก่ อกุศลธรรมทุกชนิด นี้คือความเป็นจริง

วันหนึ่งๆ มีจิตที่เป็นอกุศล คือ เป็นบาป มากจริงๆ เพียงแต่ว่าจิตที่เป็นอกุศลนั้นยังไม่มีกำลังถึงขั้นที่จะเป็นทุจริตกรรม ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น เมื่อยังเป็นเพียงแค่ความติดข้อง หรือความขุ่นเคืองใจ ที่ไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตกรรม ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดวิบากในภายหน้า แต่ก็สะสมสืบต่อเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่สะสมมีกำลังมากขึ้นจนล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ นั่นเป็นบาปที่มีกำลัง ที่สามารถให้ผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ นำเกิดในอบายภูมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของพระธรรมคำสอนก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบในการฟัง ในการศึกษา เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง น้อมใจไปที่จะรู้ความจริง เห็นโทษเห็นภัยของบาปธรรม ซึ่งเป็นอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท สะสมความดี เพื่อขัดเกลาบาปธรรมของตนเอง เพราะเหตุว่าเมื่อกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่เจริญขึ้น ก็เป็นโอกาสของบาปธรรมที่นับวันจะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนยากแก่การที่จะขัดเกลาละคลาย

การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล ปัญญาและคุณความดี เท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้มีความมั่นคงในความจริงและความถูกต้อง เพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และละเว้นในสิ่งที่เป็นบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น คือ การได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ รอบคอบและเห็นคุณค่าอย่างยิ่ง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ