[คำที่ ๔o๒] วีติกฺกมกิเลส

 
Sudhipong.U
วันที่  9 พ.ค. 2562
หมายเลข  32522
อ่าน  719

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วีติกฺกมกิเลส”

คำว่า วีติกฺกมกิเลส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วี - ติก - กะ -มะ - กิ - เล - สะ] มาจากคำว่า วีติกฺกม (การก้าวล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดเท็จ เป็นต้น) กับคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) รวมกันเป็น วีติกฺกมกิเลส หมายถึง กิเลสที่มีกำลังกล้าหรือมีกำลังมากจนสามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ เช่น เมื่อถูกความโลภครอบงำมีกำลังก็สามารถลักทรัพย์ของผู้อื่น ได้ เมื่อถูกโทสะ คือ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจครอบงำมีกำลัง ก็สามารถประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น จนถึงกับฆ่า ก็ได้ เป็นต้น เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกิเลสที่สะสมมาจนมีกำลัง ซึ่งเป็นโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น ก็ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่า จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย เพราะกิเลสที่มีกำลังมากมีกำลังกล้า ก็มาจากการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภัททิยสูตร แสดงให้เห็นถึงกิเลสมี โลภะ เป็นต้น ที่สะสมมา ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยโดยส่วนเดียว ดังนี้ ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถาม ว่า ดูกร ภัททิยะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือ เพื่อมิใช่ประโยชน์ ?

ภัททิยลิจฉวี กราบทูลว่า เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ว่า ดูกร ภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต

ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานหรือ?

ภัททิยลิจฉวี กราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ก็เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเขาเองเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วยและจะต้องเกิดร่วมกับกุศลจิตเท่านั้น กิเลสจะเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น เกิดร่วมกับธรรมฝ่ายดีไม่ได้เลย นี้คือความเป็นจริง กิเลสมีมากมายหลายประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ที่สำคัญ กิเลส ไม่ได้อยู่ในตำราเลย แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่ได้ศึกษาพระธรรมจะไม่รู้เลยว่า มากไปด้วยกิเลสแค่ไหน เช่น โลภะ (ความติดข้อง ยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มานะ (ความสำคัญตน) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อกุศลธรรม) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อกุศลธรรม) เป็นต้น ทั้งหมดนั้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

กิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เห็นได้จากการประพฤติทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า กิเลสนั้นหยาบ และมีกำลัง, ถ้าเป็นกิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ออกมาเป็นกายทุจริต วจีทุจริต เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลุ้มรุมจิต เช่น ความขุ่นใจ มี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะ มี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะกิเลสที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลุ้มรุมจิตจะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียดที่สะสมนอนเนื่องอยู่ในจิต คือ อนุสัยกิเลส พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลุ้มรุมจิตและกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสที่เป็นระดับที่ละเอียดมาก คือ อนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลสและไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น กิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลุ้มรุมจิต กับ ขั้นหยาบ และที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบ คือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา นั่นเอง, เพราะเนื่องจากว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นเป็นไป กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปตามลำดับ การที่จะดับกิเลสได้นั้น ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียว หรือ สองชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องเตือนที่ดี เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้เห็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาธรรมที่เกิดดับทั้งหลาย เพราะเหตุว่า บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องจนถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น จะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุด เห็นค่าของพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ