[คำที่ ๔o๖] ปญฺญาปโตท
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปญฺญาปโตท”
คำว่า ปญฺญาปโตท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัน - ยา – ปะ – โต - ทะ] มาจากคำว่า ปญฺญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก,เข้าใจตามความเป็นจริง) กับคำว่า ปโตท (ปฏัก,ไม้ฝังเหล็กแหลม ใช้แทงสัตว์พาหนะ) รวมกันเป็น ปญฺญาปโตท แปลว่า ปฏักคือปัญญา เป็นคำที่แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง คือ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในทางที่ดี จากที่เคยมากไปด้วยความไม่รู้ มากไปด้วยกิเลส ไปในทางที่ผิด ปัญญานี้เองที่ทำให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ตกไปในฝ่ายอกุศล ไม่เดินไปในทางที่ผิด เปรียบเหมือนกับ ปฏัก ที่คอยทิ่มแทงจิตที่เคยไปในทางที่ไม่ดี ที่เคยตกไปในฝ่ายอกุศล ให้หันกลับมาเป็นไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร และ ปัญญานี้เองเมื่ออบรมเจริญจนถึงความสมบูรณ์แล้วก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนถึงหมดสิ้นได้ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของคำว่า ปฏักคือปัญญา ไว้ดังนี้ คือ
“ปัญญา ที่ชื่อว่า ปโตทะ (ปฏัก) เพราะแทงจิตที่คดโกงวิ่งไปผิดทาง ให้ขึ้นสู่ทาง เหมือนปฏักแทงม้าสินธพที่วิ่งไปผิดทางให้ไปถูกทาง. ปฏักคือปัญญานั่นแหละ ชื่อว่า ปัญญา คือ ปฏัก”
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และมีจริงในขณะนี้ด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามไม่พ้นไปจากธรรมเลย มีแต่จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์,ไม่ใช่สภาพรู้) เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ และแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ก่อนที่จะได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และยังจะต้องเกิด เป็นไปอีกนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์จนกว่าจะได้อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเกิดอีก เมื่อไม่มีการเกิด ทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาเท่านั้นถึงจะเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ และปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่สะสมจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังพระธรรม
การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในภพนี้ชาตินี้ ก็แสดงว่าต้องเป็นผู้เคยได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ฟังพระธรรม เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงสนใจที่จะฟัง ที่จะได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา แม้เสียงของพระธรรมจะอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ฟัง เพราะเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ ไม่มีศรัทธามาที่จะรองรับพระธรรม ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ก็เป็นไปกับด้วยอำนาจของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ และกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ชีวิตก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทุกขณะ แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้ว่าจะมีชีวิตเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังบ้างในวันหนึ่งๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาสที่มี เป็นการอบรมเจริญปัญญาท่ามกลางอกุศลซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีประโยชน์ เป็นประโยชน์แล้วที่ได้ยินได้ฟังในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าไม่เคยสะสมเหตุที่ดีอย่างนี้มาเลย ก็คงจะไม่ฟังอย่างแน่นอน แต่ที่ฟังก็เพราะเห็นประโยชน์เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว และความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม เพียงพอแก่ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้ พระองค์ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นั้นผู้นี้มานับถือพระองค์ หรือพระองค์มิได้ทรงประทานพระปัญญาของพระองค์ให้แก่ใครได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่พระองค์ทรงแสดงความจริง เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีการพิจารณาไตร่ตรอง เห็นด้วยตนเองตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของผู้นั้นเอง ทุกคำที่พระองค์ตรัส เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด
พระบารมีทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกด้วยการทรงแสดงพระธรรมประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ดังนั้น ที่จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทจริงๆ ก็คือ การมีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการทรงแสดงพระธรรม สิ่งที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล และ เจริญกุศล สภาพธรรมใดที่มีโทษ พระองค์ก็ทรงแสดงถึงโทษจริงๆ ว่า ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ เลย เป็นสิ่งที่ควรละ ทั้งความติดข้อง ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความตระหนี่ เป็นต้น ซึ่งการที่จะละได้นั้น ไม่ใช่ด้วยความอยากด้วยความต้องการ หรือ การไปทำอะไรที่ผิดปกติ ณ ที่หนึ่งที่ใด แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา และสภาพธรรมใดที่ไม่มีโทษ คือ ความไม่ติดข้อง ความไม่โกรธ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความไม่ริษยา ความไม่ตระหนี่ เป็นต้น เป็นธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน พระองค์ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อผู้ฟังได้ฟัง ได้พิจารณา เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว จากที่เคยเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลประการต่างๆ ก็สามารถที่จะละคลายอกุศล ขัดเกลากิเลสของตนเอง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ปัญญา จึงเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร โดยตลอด เป็นเครื่องนำทางที่ชีวิตที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ให้ตกไปในฝ่ายที่ไม่ดี เปรียบเหมือนกับ ปฏัก ที่คอยทิ่มแทงจิตจากที่เคยไปในทางที่ไม่ดีที่ตกไปในฝ่ายอกุศล ให้หันกลับมาเป็นไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควรได้
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพระธรรม จะแสดงโดยนัยใด ด้วยคำอุปมาเปรียบเทียบอย่างไร ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด เพราะปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งกว่าจะไปถึงการดับกิเลสได้นั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้น คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้ว จะเห็นได้เลยว่าชีวิตนี้ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ